นอนกัดฟัน

นอนกัดฟัน เกิดจากอะไร แนะนำวิธีแก้นอนกัดฟันแบบไม่รู้ตัว

มีคนใกล้ตัวคุณบอกว่าคุณนอนกัดฟันตอนกลางคืนอยู่หรือเปล่า? การกัดฟันขณะนอนหลับเป็นภาวะความผิดปกติทางทันตกรรมที่พบได้บ่อยกว่าที่คิด คุณอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังนอนกัดฟันอยู่ และอาจส่งผลเสียกับสุขภาพฟันและช่องปากโดยรวมของคุณได้

 

นอนกัดฟัน เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้ และที่สำคัญกว่านั้นคือจะรักษาอาการนอนกัดฟันได้อย่างไร วันนี้ Smile Seasons มีคำตอบมาให้ บทความนี้จะช่วยให้คุณเรียนรู้และเข้าใจสาเหตุของการนอนกัดฟัน และทางเลือกในการรักษา อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับการนอนกัดฟัน

นอนกัดฟัน คืออะไร ?

นอนกัดฟัน เป็นภาวะที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคุณได้ และเป็นภาวะที่วินิจฉัยได้ยาก มีลักษณะเฉพาะคือ มีการกัด ขบฟันไปมา มีการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการบดเคี้ยว อาการจะเป็นมากในขณะนอนหลับ คนไข้อาจมีอาการปวดหัวเรื้อรัง ปวดใบหน้า เจ็บกราม เมื่อตรวจฟันจะพบฟันสึก ฟันแตกหรือร้าว

นอนกัดฟัน เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ความผิดปกติของการนอน หรือการใช้ยาบางชนิด นอนกัดฟันสามารถรักษาได้ ตัวเลือกในการรักษาคือ เฝือกสบฟัน การจัดการกับความเครียด และการใช้ยา

นอนกัดฟัน เกิดจากอะไร

การจะแก้ไขภาวะนอนกัดฟัน ก็ต้องระบุปัจจัยกระตุ้นหรือสาเหตุของการนอนกัดฟันให้ได้เสียก่อน สาเหตุที่แท้จริงของการนอนกัดฟันนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายประการที่อาจนำไปสู่ภาวะนอนกัดได้ ยกตัวอย่างเช่น

 

  • ความเครียดและความวิตกกังวล – อารมณ์ความรู้สึกในแง่ลบ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการนอนกัดฟัน โดยความเครียดสามารถทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณกรามและใบหน้า ทำให้เกิดการกัดฟันได้
  • ความผิดปกติของการนอน (Sleep disorder) – การนอนกัดฟัน สัมพันธ์กับกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA – Obstructive Sleep Apnea) การนอนกรน หรือปัญหาการหายใจอื่นๆ ระหว่างนอนหลับ
  • การสบฟันที่ผิดปกติ – การสบฟันที่ไม่ดี หรือฟันที่เรียงตัวไม่ตรง อาจนำไปสู่การนอนกัดฟันได้ เนื่องจากแรงกดบนฟัน และกรามไม่เท่ากัน
  • ยาและสารเคมี – ยากล่อมประสาท ยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท และ สารเสพติดอื่นๆ สามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันเป็นผลข้างเคียงได้
  • ปัจจัยด้านพฤติกรรม – การดื่มแอลฮอล์มากเกินไป การได้รับคาเฟอิน และการสูบบุหรี่ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการนอนกัดฟัน
  • โรคประจำตัวอื่นๆ – โรคเช่น พาร์กินสัน ฮันติงตัน และโรคกรดไหลย้อน (GERD) มักพบร่วมกัน หรือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะนอนกัดฟัน

อาการนอนกัดฟัน

อาการของโรคนอนกัดฟัน
อาการของภาวะนอนกัดฟันมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยอาการต่างๆ ที่อาจพบได้มีดังนี้
  • ปวดตึงที่ศีรษะจากการนอนกัดฟันทั้งคืน อาการปวดมักเป็นที่บริเวณขมับ และหน้าผาก
  • ปวดบริเวณแก้ม หรือกกหู ซึ่งอาการปวดอาจแย่ลงขณะพูด เคี้ยวอาหาร หรือขยับกราม
  • ปวดฟัน หรือฟันโยกซึ่งเป็นผลจากฟันได้รับแรงกัดอยู่ตลอดเวลา
  • ข้อต่อขากรรไกร (TMJ – Temporomandibular joint) อักเสบ และเสื่อมเร็วผิดปกติ ทำให้เจ็บเวลาอ้าปาก หาว หรือพูด
  • รบกวนการนอนหลับทำให้มีความผิดปกติด้านการนอนหลับ เช่น หลับยาก นอนกรน หรือเหนื่อยล้าระหว่างวัน
  • ฟันสึกเร็วผิดปกติ ทำให้อาจต้องได้รับการบูรณะด้วยครอบฟัน นอกจากนั้นฟันที่สึกยังไวต่ออุณหภูมิทำให้เสียวฟันได้เมื่อรับประทาน หรือดื่มเครื่องมือร้อนหรือเย็น
  • ลิ้นมีรอยบุ๋ม ที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อไปกดบนผิวฟันด้านในขณะกำลังกัดฟัน อาจเกิดการระคายเคือง และเจ็บปวดเมื่อรับประทานอาหาร

จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณกำลังเผชิญกับภาวะนอนกัดฟัน

นอนกัดฟัน เป็นภาวะที่รับรู้ได้ยาก คนไข้ส่วนใหญ่รับรู้อาการของตัวเองจากคนใกล้ตัว พวกเขาอาจจะบอกได้ว่าได้ยินเสียงกัดฟันในตอนกลางคืน คุณเองก็อาจมีอาการปวดหัวเรื้อรัง หรือเป็นที่แก้มกับกกหู

นอกจากนี้การมาพบคุณหมอฟันเพื่อตรวจสุขภาพฟันก็อาจจะทำให้เจอลักษณะทางคลินิกของฟันที่อาจพบได้ในภาวะนอนกัดฟัน เช่น ฟันสึกมากในคนไข้อายุน้อย ฟันแตกหรือร้าวในคนไข้ที่ไม่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุมาก่อน เป็นต้น 

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการนอนกัดฟัน

นอนกัดฟัน สามารถก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ หากไม่ได้รับการค้นหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยการนอนกัดฟันสามารถทำให้เกิดผลเสียและภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ฟันได้รับการบาดเจ็บ – การนอนกัดฟันเป็นเวลายาวนานจะทำให้ฟันสึกในอัตราที่รวดเร็วกว่าปกติ นอกจากนั้นยังวสามารถทำให้ฟันบิ่นหรือแตกได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันได้ หากเป็นมากอาจต้องได้รับการรักษารากฟัน และการทำครอบฟัน
  • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร – แรงบดเคี้ยวจากการการกัดฟันที่กระทำต่อข้อต่อขากรรไกรสามารถก่อให้เกิดอาการปวดตึง บริเวณกกหู หรือได้ยินเสียงป็อปเวลาอ้าปากหรือขยับข้อต่อขากรรไกร ในรายที่รุนแรงมากขึ้น อาจทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง และอ้าปากได้ลำบาก
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง – กล้ามเนื้อโดยรอบจะเกิดการหดตัวในช่วงที่กัดฟันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก และขมับ ทำให้เกิดอาการปวดศึรษะเรื้อรังซึ่งหาสาเหตุไม่พบ
  • ความผิดปกติของการนอนหลับ – การนอนกัดฟันอาจรบกวนวงจรการหลับ และทำให้คุณอ่อนเพลียในตอนกลางวัน เหมือนคนนอนไม่พอ
  • การบาดเจ็บของเหงือก – การนอนกัดฟันสามารถทำให้เกิดเหงือกอักเสบ และเหงือกร่นตามมาได้

การวินิจฉัยอาการนอนกัดฟัน

การวินิจฉัยภาวะนอนกัดฟันประกอบด้วยการตรวจทางคลินิก การซักประวัติทางการแพทย์และทันตกรรมของคุณ ต่อไปนี้เป็นวิธีการที่สามารถใช้ในการวินิจฉัยภาวะนอนกัดฟันได้

 

  • ลักษณะทางคลินิกของฟัน – คุณหมอจะมองหาสัญญาณของการนอนกัดฟันระหว่างการตรวจสุขภาพช่องปาก โดยสิ่งที่คุณหมออาจตรวจพบได้คือ ร่องรอยการสึกหรอของเนื้อฟัน ความหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ความเจ็บปวดที่ข้อต่อขากรรไกร หรือใบหน้า
  • เอ็กซเรย์ – คุณหมออาจส่งเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบความเสียหายของเนื้อฟัน และคลองรากฟัน  นอกจากนั้นยังสามารถดูความเปลี่ยนแปลงของมวลกระดูกขากรรไกรที่อาจเกี่ยวข้องกับการนอนกัดฟัน
  • การวิเคราะห์การสบฟัน – คุณหมอสามารถใช้การวิเคราะห์การกัดเพื่อตรวจสอบว่าฟันบน และฟันล่างสบกันอย่างไร พอดีหรือไม่ วิธีนี้สามารถช่วยระบุปัญหาแนวการสบฟันที่ไม่ตรง หรือมีปัญหาซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดการนอนกัดฟัน
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG – Electromyography) – เป็นการวางอิเล็กโทรดขนาดเล็กไว้บนใบหน้า เพื่อบันทึกการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และตรวจจับรูปแบบที่บ่งบอกว่าอาจมีการนอนกัดฟัน
  • ประวัติจากคนไข้ – คุณอาจถูกขอให้กรอกแบบสอบถาม หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับ อาการ รูปแบบการนอนหลับ และความเครียดประจำวันที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการนอนกัดฟัน

การรักษาภาวะนอนกัดฟัน

การพิจารณาตัวเลือกในการรักษาภาวะนอนกัดฟันอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ไลฟ์สไตล์ สาเหตุ และความต้องการของคุณ

 

  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต – การลดความเครียด และการเรียนรู้วิธีผ่อนคลายถือเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการนอนกัดฟัน ซึ่งอาจรวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับให้เพียงพอ การทำกิจกรรมที่ชื่นชอบซึ่งสามารถคลายเครียดได้ การฝึกเทคนิคผ่อนคลายต่างๆ เช่นการทำสมาธิ หรือโยคะก็ถือว่ามีประโยชน์
  • การวางแผนการรับประทานอาหาร – การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีความสมดุลของทั้ง 5 หมู่สามารถช่วยลดอาการที่เกี่ยวข้องกับการนอนกัดฟันได้ คุณควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอิน และแอลกอฮอลล์สูง
  • เฝือกสบฟัน (Night Guard หรือ Occlusal Splint) – การใส่เฝือกสบฟันขณะนอนหลับสามารช่วยป้องกันไม่ให้เกิดฟันสึก ซึ่งเกิดจากการเสียดสีกันระหว่างนอนหลับ รวมทั้งลดอาการปวดใบหน้าที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อในตอนกลางคืน
  • การฉีดโบท็อกซ์ – โบท็อกซ์เป็นทางเลือกในการรักษาภาวะนอนกัดฟันที่มีประสิทธิภาพ มักใช้ในกรณีที่ภาวะนอนกัดฟันที่พบมีความรุนแรง หรือการรักษาอื่นๆ ล้มเหลว โดยคุณหมอจะฉีดโบท็อกซ์เข้าไปบริเวณกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บดเคี้ยว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และป้องกันไม่ให้เกิดการกัดอย่างรุนแรงขณะนอนหลับ
  • กายภาพบำบัด – นักกายภาพบำบัดสามารถยืดกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บดเคี้ยว ซึ่งสามารถลดความเจ็บปวดได้ การนวดบำบัดยังมีประโยชน์ในการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบนใบหน้าที่เกิดจากการนอนนกัดฟัน
  • การใช้ยา – คุณหมออาจจะให้คุณรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการ หรือยาที่ช่วยลดความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าที่พบร่วมกับภาวะนอนกัดฟัน

ค่ารักษาอาการนอนกัดฟัน

ค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะนอนกัดฟันขึ้นอยู่ความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น หากคุณสงสัยว่าคุณกำลังประสบปัญหานอนกัดฟัน คุณสามารถทำนัดเข้ามาพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจ และคำปรึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


เฝือกสบฟันเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยปกป้องฟันของคุณขณะหลับ ระหว่างที่ทำการรักษาหรือควบคุมสาเหตุอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดย เฝือกสบฟันมีราคาเริ่มต้นประมาณ 6,000-6,500 บาท

วิธีป้องกันอาการนอนกัดฟัน

นอกจากการเข้ารับการรักษากับคุณหมอแล้ว วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะนอนกัดฟัน โดยมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

 

  • จัดการกับความเครียด – เนื่องจากความเครียดและวิตกกังวลเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะนอนกัดฟัน การผ่อนคลายจึงช่วยป้องกันหรือลดอาการของการนอนกัดฟันได้ คุณสามารถลองกิจกรรมใหม่ๆ เช่น โยคะ การทำสมาธิ การฝึกหายใจเข้าออกลึก การฟังเพลง หรือแม้แต่การออกกำลังกาย แล้วดูว่าคุณชื่นชอบอะไร กิจกรรมไหนสามารถลดความเครียดให้กับคุณได้
  • รักษาอนามัยการนอนหลับที่ดี – การนอนหลับให้เพียงพอสำคัญมากในการควบคุมอาการของภาวะนอนกัดฟัน เราอยากให้คุณเข้านอน และตื่นนอนอย่างเป็นเวลา โดยเวลานอนไม่ควรน้อยกว่า 8 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ หรือคาเฟอินก่อนนอน การจัดห้องนอนให้มีความเหมาะสมก็จะสามารถช่วยให้คุณหลับได้สนิท และผ่อนคลายมากขึ้น ห้องนอนที่ดีควรจะมืดสนิทเมื่อปิดไฟ ไม่มีเสียงดังรบกวน คุณไม่ควรนำงานมาทำในห้องนอน หรือทำกิจกรรมอื่นเช่นดูทีวี เล่นมือถือเป็นเวลานานๆ
  • เลี่ยงอาหารที่แข็งๆ – การเคี้ยวดินสอ ปากกา หรือของแข็งอื่นๆ ในตอนเผลอจะทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บดเคี้ยวเกิดการหดเกร็งอยู่ตลอดเวลา และกระตุ้นให้เกิดอาการกัดฟันในระหว่างนอน
  • ตั้งสติระวังการกัดฟัน – ภาวะนอนกัดฟันอาจเกิดขึ้นนอนตื่นก็ได้ มักเกิดเวลาใช้ความคิด หรือมีความเครียดเกิดขึ้น คุณควรพยายามสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากรู้สึกว่ากำลังกัดฟันอยู่ให้หยุดพัก ผ่อนคลาย นวดเบาๆ ที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร แล้วค่อยกลับไปทำงานใหม่
  • ใส่เฝือกสบฟันตอนนอน – เฝือกสบฟันสามารถช่วยป้องกันฟันของคุณจากแรงบดเคี้ยวระหว่างนอนได้ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาโรคนอนกัดฟัน
  • พบคุณหมอทุก 6 เดือน – การตรวจฟันเป็นประจำสามารถช่วยระบุสัญญาณเริ่มต้นของการนอนกัดฟันได้ ทำให้คุณหมอสามารถวินิจฉัย และเริ่มให้การรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งอาการยังไม่มาก หรือยังไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับนอนกัดฟัน

หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา การนอนกัดฟันอาจนำไปสู่การทำลายฟันอย่างรุนแรง ความสามารถในการเคี้ยวอาหารลดลง หน้าตาเปลี่ยนไป เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเหงือกอักเสบ และฟันเรียงตัวผิดปกติ ไม่เป็นระเบียบ นอกจากนี้อาจเชื่อมโยงกับอาการปวดหัวเรื้อรัง ปวดกราม อีกด้วย
จริง – ในกรณีที่การนอนกัดฟันเป็นอย่างรุนแรง และเป็นมาอย่างยาวนาน โดยไม่ได้รับการรักษา ฟันจะสึก และลดความยาวของตัวฟัน ทำให้คางดูสั้นลง และใบหน้าไม่สมส่วน
ฝึกเทคนิคผ่อนคลาย เช่น โยคะ เข้าสมาธิ พยายามผ่อนคลายด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเล่นกีฬา การฟังเพลง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ หรือคาเฟอินในระดับสูง
การสวมเฝือกสบฟันเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่สำคัญมาก สามารถป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการนอนกัดฟันได้ เราแนะนำให้คุณใส่ทุกคืนก่อนนอน พร้อมกับรักษาสาเหตุของการนอนกัดฟันควบคู่ไปด้วย
มียาหลายชนิดสามารถช่วยลดความรุนแรง และอาการนอนกัดฟันได้ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาต้านซึมเศร้า และยาคลายความวิตกกังวล

สรุปเกี่ยวกับอาการนอนกัดฟัน

คุณเคยตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการปวดกรามแปลกๆ หรือสังเกตเห็นว่าฟันของคุณดูสึกหรือไม่? คุณอาจเป็นหนึ่งในหลายล้านคนทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหานอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัว ภาวะนอนกัดฟันมีสาเหตุจากความเครียดและความวิตกกังวล ไปจนถึงการเรียงตัวที่ไม่ดีของกรามบนและล่าง สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้

 

Smile Seasons มั่นใจว่าด้วยการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เราจะช่วยปกป้องฟันของคุณจากภาวะนอนกัดฟันได้ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนอนกัดฟันของเราพร้อมจะให้คำอธิบายโดยละเอียด รวมถึงสามารถแนะนำตัวเลือกในการรักษาให้กับคุณได้ คุณสมารถกรอกข้อมูลที่แบบฟอร์มด้านล่าง และรอการทำนัดเข้ามาพบคุณหมอได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือ โทร 02-114-3274, LINE @smileseasons.dc

อ้างอิง

บทความโดย

Picture of ผศ.ทพญ.สุฤดี ทายะติ

ผศ.ทพญ.สุฤดี ทายะติ

วุฒิบัตรทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า ทันตแพทยสภา
ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง สาขาทันตกรรมบดเคี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้