ฟันคุดคืออะไร ผ่าฟันคุดราคาเท่าไหร่ เจ็บไหม – เรามีคำตอบให้
ผ่าฟันคุดคืออะไร
การผ่าฟันคุดคือการเอาฟันกรามชุดที่ 3 ซึ่งอยู่ด้านหลังสุดออก คนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ แต่บางคนก็น้อยกว่า หรืออาจไม่มีฟันคุดเลยก็ได้ นักโบราณคดีเชื่อว่าในสมัยโบราณ บรรพบุรุษของมนุษย์ใช้ฟันชุดนี้ ในการเคี้ยวอาหารที่เหนียว และแข็งมากๆ เช่น ถั่ว ราก/ใบไม้ และธัญพืช เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น อาหารของเราได้รับการปรุงให้รับประทานง่าย ขนาดของกระดูกขากรรไกรจึงเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้ฟันคุดไม่มีพื้นที่เพียงพอจะขึ้นได้ ฟันคุดอาจก่อปัญหาต่างๆ ทางทันตกรรมขึ้นได้จึงควรได้รับการดูแล ถอน หรือผ่าออก
ฟันคุดมีอาการอย่างไร
ส่วนใหญ่แล้วฟันคุดมักโผล่ขึ้นในวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงต้นของวัยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 17-25 ปี) คนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือบางคนอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดตึง อักเสบ และอาจะมีเลือดออกบริเวณเหงือก
- เหงือกบวม บางครั้งอาจบวมไปถึงแก้ม หรือกราม
- ปวดบริเวณขากรรไกร
- การรับรส และลมปากมีกลิ่นผิดปกติ
- อ้าปากลำบาก / เจ็บเวลาอ้าปาก
เราควรผ่าฟันคุดหรือไม่
คุณไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดทุกซี่ เหตุผลหลักที่ทันตแพทย์แนะนำให้คุณต้องผ่าฟันคุด คือฟันคุดซี่นั้นทำความสะอาดได้ยาก จึงมีความเสี่ยงกับการอักเสบ และติดเชื้อในภายหลัง
การผ่าตัดในช่วงอายุ 18-25 ปี สามารถทำได้ง่าย แผลหายไว ผลแทรกซ้อนน้อย รู้แบบนี้แล้ว อย่ารีรอรีบผ่าออกแต่เนิ่นๆ ก็จะไม่เกิดผลเสียภายหลัง
ข้อบ่งชี้สำหรับการถอนหรือผ่าฟันคุดที่ทันตแพทย์แนะนำ
- ฟันคุดซี่นั้นเคยก่อให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อมาก่อน
- ฟันคุดเรียงตัวผิดปกติ
- ฟันคุดไม่มีฟันคู่สบด้านบน หรือล่าง หรือฟันคุดนั้นทำให้การสบฟันผิดปกติ
- ฟันคุดขึ้นมาแค่บางส่วนไม่เต็มซี่
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ผ่าฟันคุด
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นคือ
- เหงือกที่คลุมฟันคุดอักเสบ เพราะฟันคุดที่ขึ้นมาบางส่วนจะมีเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย แต่ทำความสะอาดได้ยากส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียสะสม ก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ปวด บวมเป็นหนองได้ หากทิ้งไว้ การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ส่งผลต่อการหายใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- ฟันผุ จากการที่ฟันคุดและฟันกรามซี่ที่ 2 อยู่ชิดกันในลักษณะที่ผิดปกตินี้ ทำให้ทำความสะอาดยาก เศษอาหารติดค้างจึงทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
- กระดูกละลาย จากแรงดันของฟันที่พยายามขึ้นมา ทำให้กระดูกรอบๆ รากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
- เกิดเป็นถุงน้ำ (Cyst) ฟันคุดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถุงน้ำ และยังสามารถขยายขนาดจนทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกบริเวณรอบๆ
- กลิ่นปาก เหงือกที่อักเสบ ฟันผุ และเศษอาหารตกค้างสามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ฟันคุดจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คุณมีกลิ่นปาก ซึ่งทำให้คุณเสียบุคลิกภาพ
ผ่าฟันคุดเจ็บไหม
คนไข้ส่วนใหญ่บอกว่าการผ่าฟันคุดนั้นไม่เจ็บมากอย่างที่คิด ก่อนผ่าฟันคุด คุณจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยตอนคุณหมอฉีดยาชาให้ หลังจากนั้นคุณจะรู้สึกแค่ตึงๆ นิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ ความเจ็บปวด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฟันคุดซี่นั้นมีปัญหา
ผ่าฟันคุดกี่วันหาย
การถอดฟันคุด หรือผ่าฟันคุด จะใช้เวลาหายประมาณ 1 อาทิตย์ โดยในช่วง 2-3 วันแรกคุณอาจจะปวด และมีอาการบวม ทำให้รับประทานอาหารลำบาก หากเป็นไปได้เราแนะนำให้คุณหยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้นเมื่อคุณรับประทานอาหารได้ดีขึ้น และแผลเริ่มหาย อาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น หากคุณหมอเย็บแผลเอาไว คุณจะต้องมาตัดไหมตามนัดที่ประมาณ 7 วันหลังจากผ่าฟันคุดไป
ผ่าฟันคุดราคาเท่าไหร่
การผ่าฟันคุดนั้นมีหลากหลายราคา ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยดังนี้
- ตำแหน่งของฟันคุด ฟันคุดที่อยู่ลึกในกระดูกขากรรไกร ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ตามปกติ ซึ่งทำให้การผ่าฟันคุดใช้ระยะเวลานาน และมีความซับซ้อนมากกว่า
- การวางตัวของฟันคุด ฟันคุดที่วางตัวกลับหัว หรือพาดอยู่ใกล้เคียงกับฟันกรามซี่อื่นนั้นต้องใช้ความระมัดระวังในการรักษา
- มีผลข้างเคียง ฟันคุดที่มีเหงือกอักเสบมาก หรือมีถุงน้ำ อาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะด้วยยา หรือหัตถการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากขึ้น
- ทันตแพทย์ผู้รักษา หากเคสของคุณเป็นฟันคุดที่มีความซับซ้อน หรืออยู่ในตำแหน่งที่ผ่าออกได้ยาก คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม ฉะนั้น ถ้าคุณหมอฟันของคุณส่งต่อเคสของคุณให้คุณหมอศัลยกรรม ค่ารักษาของคุณก็น่าจะสูงขึ้น
- คลินิกทันตกรรม ที่คุณเข้ารับการรักษา แน่นอนว่าอัตราค่าบริการของแต่ละคลินิกย่อมไม่เท่ากัน คุณควรสอบถามให้แน่ใจก่อนเริ่มการรักษา
โดยทั่วไปแล้วหากฟันคุดของคุณโผล่พ้นเหงือกมาแล้วบางส่วน ค่ารักษาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,500 บ. แต่หากคุณหมอจำเป็นต้องเปิดเหงือก มีการเย็บแผลเพิ่มเติม ค่ารักษาจะเริ่มต้นที่ 2,500-3,000 บ. ในกรณีที่เป็นเคสซับซ้อน หรือเป็นฟันผังค่ารักษาอาจจะขึ้นไปถึง 5,000-6,000 ได้
เตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด
1. ลางาน ลาเรียน ล่วงหน้า
หลังจากผ่าฟันคุด คุณอาจจะยังรู้สึกปวด บวม และในบางครั้งยาชาอาจออกฤทธิ์ได้ถึง 12-24 ชม. ฉะนั้นคุณควรพักผ่อนอย่างน้อย 1-2 วันที่บ้านให้หายดีก่อนกับไปเรียน หรือทำงาน
2. นั่งแท็กซี่ หรือหาคนมาส่ง
หลังผ่าฟันคุด คุณอาจจะรู้สึกตึง และอยากพัก คงไม่ใช่เรื่องดีแน่หากคุณต้องขับรถกลับบ้านเองทั้งอย่างนั้น คุณหมอแนะนำให้ มีคนขับรถมารับส่งคุณ หรือใช้บริการแท็กซี่จะดีกว่า
3. กินยาตามคำแนะนำ
คุณควร ‘หยุดยา’ หรือ ‘กินยา’ บางตัวตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด คุณควรบอกประวัติการรับประทานยาทั้งหมดของคุณ ให้คุณหมอทราบ โดยเฉพาะยาที่รบกวนการแข็งตัวของเลือด
4. ซื้ออาหารอ่อนๆ มาเตรียมไว้
อาการปวดตึงมักเป็นอยู่ 1-2 วัน และคุณอาจรู้สึกไม่อยากออกไปไหน จึงเป็นการดีกว่าถ้าคุณจะเตรียมอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้โดยไม่ต้องออกแรงเคี้ยวมาก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม พุดดิ้ง ซุป หรือโยเกิร์ต
5. คำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติม
- นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 8 ชม. ก่อนผ่าฟันคุด
- สวมใส่ชุดสบายๆ ไม่รัด ถ้าคุณผมยาว คุณหมอแนะนำให้รวดมัดผมไว้ด้านหลังให้เรียบร้อย
- หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับ การแต่งหน้า ทาลิปสติก
- เตรียม Series เรื่องโปรด หรือเกมส์ที่เล่นค้างอยู่เอาไว้ คุณจะได้พัก 1-2 วัน ใช้เวลานี้ให้คุ้มค่า
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังผ่าฟันคุด
- เลือดออกจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ
- มีไข้ หรือการติดเชื้อหลังจากการผ่าฟันคุด
- ริมฝีปากชานานผิดปกติ
- Dry Socket คือภาวะที่ลิ่มเลือดที่คลุมบริเวณแผลผ่าตัดหลุดออกไป ซึ่งจะทำให้กระดูกไม่มีอะไรมาปกคลุมและเกิดอาการปวดขึ้นมาได้
- เกิดความเสียหายต่อฟันซี่ข้างเคียง หรืออวัยวะโดยรอบ เช่น กระดูกขากรรไกร หรือไซนัส
อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก และสามารถแก้ไขได้โดยการกลับไปพบคุณหมอ คุณจึงไม่ควรกังวลมากจนไม่ยอมผ่าฟันคุดออก เพราะคุณหมอคิดว่าการเก็บฟันคุดที่มีข้อบ่งชี้ในการเอาออกนั้น เป็นอันตรายกับตัวคุณมากกว่า
ข้อปฎิบัติตัวหลังผ่าฟันคุด
เลือดออก
- กัดผ้าก็อซอย่างต่อเนื่องให้แน่นเป็นเวลาอย่างน้อย 30-45 นาที หากยังมีเลือดซึม ให้เปลี่ยนผ้าก๊อซแล้วกัดต่ออีก 30-45 นาที คุณอาจจะต้องเปลี่ยนผ้าก๊อซถึง 3-4 ครั้งกว่าเลือดจะหยุดสนิท ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
- ห้ามรบกวนบริเวณแผล – ห้ามใช้ลิ้นหรือสิ่งอื่น ดุนหรือแตะแผล และห้ามดูดน้ำลายหรือเลือดจากผ้าก๊อซ เนื่องจากลิ่มเลือดที่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนแข็งตัวของเลือดอาจจะหลุดออก และทำให้เลือดบริเวณแผลไม่หยุดไหล
- อย่าบ้วนน้ำ น้ำลาย หรือเลือด ระหว่างกัดก๊อซ ให้กลืนลงคอได้เลย
- ส่วนใหญ่ เลือดควรจะหยุดภายในเวลา 60-90 นาที แต่คนไข้บางรายอาจมีเลือดออกซึมได้เล็กน้อยถึง 4-6 ชม. หากหลังจากนั้นคุณยังมีเลือดออกมาก หรือคุณมีอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น หน้ามืด จะเป็นลม ใจหวิว ใจสั่น กรุณาติดต่อเรา
ความปวด
คุณสามารถรับประทานยาแก้ปวด Paracetamol ทุก 4-6 ชม. ได้ หากคุณยังปวดมากคุณสามารถทานยาแก้ปวด Ibuprofen เพิ่ม *กรุณาตรวจสอบ วิธีการรับประทานยาให้ตรงตามข้อมูลซึ่งปรากฎอยู่บนซองยา กรณีที่คุณมีประวัติแพ้ยา คุณหมออาจจ่ายยาประเภท/กลุ่มอื่นให้คุณรับประทาน กรุณาปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
บวม ช้ำ
- แก้มของคุณอาจบวม (บวมมากที่สุด 2-3 วันหลังผ่า) ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
- คุณสามารถใช้ถุงซิปล๊อคใส่น้ำแข็ง หรือ Cold Pack ห่อผ้า และประคบข้างแก้ม 20 นาที พัก 5 นาที และทำซ้ำใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อลดบวม และช่วยให้เลือดหยุดเร็วขึ้นใน 24 ชม. แรก
- หลังจาก 24 ชม. ถ้าคุณมีรอยช้ำ หรือยังปวดตึงอยู่ คุณสามารถเปลี่ยนเป็นประคบด้วยน้ำอุ่น โดยทำเหมือนกันกับการประคบเย็น (ห้ามใช้น้ำเดือด หรือ ประคบถุงอุ่นโดยตรงกับผิวหนัง ให้ห่อด้วยผ้าทุกครั้ง)
อาหาร
- คุณควรดื่มน้ำปริมาณมากขึ้น อย่างน้อย 6 แก้มต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงที่คุณยังรับประทานอาหารได้ไม่เหมือนเดิม แต่หลีกเลี่ยงการใช้หลอดเพราะทำให้เลือดไหลได้
- รับประทานอาหารเหลว หรืออาหารอ่อนในร 2-3 วันแรก
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่เย็นจัด ร้อนจัด ใน 2-3 วันแรก
การรักษาความสะอาด
- หากเลือดหยุดดี คุณสามารถแปรงฟันซี่อื่นๆ ได้ แต่หลีกเลี่ยงการรบกวนบริเวณแผล กรุณาบ้วนน้ำเบาๆ งดใช้น้ำยาบ้วนปากในช่วงอาทิตย์นี้
- วันที่ 2 คุณสามารถกลั้วปากเบาๆ ด้วยน้ำเกลืออุ่น วันละ 4-6 ครั้ง (ผสม หรือนำน้ำ 1 แก้ว ใส่ไมโครเวฟให้พออุ่น ใส่เกลือ 1/4 ช้อนชา คนให้เข้ากัน) ทำเช่นนี้ไปประมาณ 4-5 วัน
- หากคุณหมอจ่ายน้ำยาบ้วนปาก Chlorhexidine คุณสามารถใช้แทนน้ำเกลืออุ่น
ข้อแนะนำอื่นๆ
- งดออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วัน เนื่องจากคุณทานอาหารได้น้อย และได้รับแคลอรี่น้อยกว่าปกติ ทำให้คุณเหนื่อยง่ายกว่าปกติ และอาจมีอาการ เพลีย หน้ามืด หรือวิงเวียน
- ห้ามสูบบุหรี่ อย่างน้อย 1 อาทิตย์ เนื่องจากบุหรี่นั้นรบกวนกระบวนการหายของแผล
- คุณอาจรู้สึกมีไข้ต่ำๆ ได้ใน 24-48 ชม. แรก ซึ่งเป็นการตอบสนองปกติของร่างกาย หากหลัง 48 ชม. คุณยังมีไข้ หรือคุณมีไข้สูง หนาวสั่น กรุณาติดต่อเรา
- คุณอาจรู้สึกเจ็บคอ ตึงบริเวณขากรรไกร อ้าปากได้ไม่สุด ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อย หลังผ่าตัดฟันคุด และอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง
- ริมฝีปากคุณอาจแห้งในช่วงนี้ การใช้ Lips Balm / Moisture จะช่วยคุณได้
- หากคุณหมอจ่ายยาปฎิชีวนะให้เพิ่มเติม กรุณารับประทานจนหมดตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
ทพญ.ชัญญา หุนานนทศักดิ์
ศัลยศาสตร์ช่องปาก
- ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาศัลยศาสตร์ช่องปาก ม. มหิดล
- ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ม.เชียงใหม่ (เกียรตินิยมอันดับ 2)
ติดต่อเจ้าหน้าที่
อย่าลังเลที่จะติดต่อเรา เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้บริการตอบคำถาม ข้อสงสัย ประเมินค่าใช้จ่าย ทำนัดปรึกษากับคุณหมอ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงกรอก ชื่อนามสกุล เบอร์โทร และ Email เจ้าหน้าที่ของเราจะรีบติดต่อกลับไปให้ข้อมูลคุณโดยเร็วที่สุด
โปรโมชั่นอื่นๆ
ฟันปลอม
คืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่คุณรักได้ง่ายๆ เพียงทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปด้วยฟันปลอมหลากหลายรูปแบบ ทั้งฟันปลอมติดแน่น และถอดได้ อ่านรายละเอียดได้จากที่นี่
จัดฟันใส ดี-Aligner
‘ดี-aligner’ จัดฟันใสชนิดถอดได้ ไม่เสียบุคลิกภาพ รักษาความสะอาดง่าย เจ็บน้อย จัดเสร็จเร็ว ผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับโลก ในราคาเท่ากับการจัดฟันแบบธรรมดา – คลิ๊กอ่านรายละเอียด
ขูดหินปูนฟรี ประกันสังคมไม่ต้องสำรองจ่าย
ตรวจสุขภาพฟันประจำปี ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ ฟรี!!! สำหรับผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมเท่านั้น ไม่ต้องสำรองจ่าย ใช้แค่บัตรประชาชนเท่านั้น ลงทะเทียนจองเลย
รีเทนเนอร์
รีเทนเนอร์ ราคาพิเศษ 2,999 สีเยอะ ลายเพียบ หรือจะออกแบบเองก็ได้ ใส่ Glitter เลือกสียางด้านหน้าได้ มีทั้งแบบเหล็ก และแบบใส – ดูแลโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อ่านรายละเอียดที่นี่
แบบประเมินความเสี่ยงก่อนเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม
เรียนรู้ขั้นตอนการปฎิบัติตัว มาตรการป้องกัน และอุปกรณ์ต่างๆ ของ Smile Seasons เพื่อให้คุณมั่นใจว่าสำหรับเราความปลอดภัยของคนไข้ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
คลินิกจัดฟันที่จะทำให้ทุกคนตกหลุมรักรอยยิ้มของคุณ
ดูแลโดยทีมคุณหมอที่มีประสบการณ์เปลี่ยนแปลงรอยยิ้มให้กับคนไข้หลายพันคน – โปรโมชั่นมีทั้งจัดฟันครั้งแรก กับรอบสอง ก้าวแรกแห่งรอยยิ้มที่สวยงามเริ่มต้นที่นี่คลิกเลย