เมื่อปวดฟันต้องกินยาแก้ปวดฟันแบบไหน ต้องเลือกอย่างไร
อาการปวดฟันเป็นความทรมานที่หลายคนไม่อยากเผชิญ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย หากปล่อยให้อาการปวดฟันเรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ลุกลามและส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว การเลือกใช้ยาแก้ปวดฟันที่เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการก่อนพบทันตแพทย์
อาการปวดฟันเกิดจากสาเหตุใดบ้าง
- ฟันผุ : ฟันผุเกิดจากแบคทีเรียในช่องปากย่อยสลายอาหารจำพวกน้ำตาลและแป้ง ทำให้เกิดกรดที่กัดกร่อนเคลือบฟัน เมื่อฟันผุลึกเข้าไปถึงเนื้อฟันชั้นในจะทำให้เกิดอาการเสียวฟันและปวดฟัน
- เหงือกอักเสบ : เกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์บริเวณขอบเหงือก ทำให้เหงือกบวมแดง มีเลือดออกง่าย เมื่อไปสัมผัสโดนเหงือกบริเวณนั้นจะเกิดอาการปวด
- ฟันแตกหรือร้าว : อาจเกิดจากการกระแทก การกัดของแข็ง หรือการบดเคี้ยวฟันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดรอยแตกที่มองเห็นหรือไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อมีสิ่งกระตุ้นเช่นอาหารร้อน เย็น หรือหวาน จะทำให้เกิดอาการปวดฟันได้
- ฟันสึก : เกิดจากการแปรงฟันแรงเกินไป การกัดเคี้ยวอาหารที่แข็ง หรือการนอกกัดฟัน ทำให้เคลือบฟันบางลงและเกิดอาการเสียวหรือปวดฟัน
- ฟันคุด : โดยเฉพาะฟันกรามซี่สุดท้ายที่ขึ้นไม่เต็มซี่ อาจเกิดการอักเสบของเหงือกรอบฟัน ทำให้เกิดอาการปวดบวมได้
- ฟันผุทะลุโพรงประสาท : เกิดเมื่อการติดเชื้อในช่องปากที่ลุกลามไปจนถึงเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรงต่อเนื่อง
- โรคไซนัสอักเสบ : บางครั้งอาการปวดบริเวณฟันกรามบนอาจเป็นผลมาจากไซนัสอักเสบ เนื่องจากรากฟันกรามบนอยู่ใกล้กับโพรงไซนัส
เมื่อปวดฟันกินยาแก้ปวดฟันได้ไหม
เมื่อมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น การใช้ยาแก้ปวดฟันเพื่อบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นสามารถทำได้ แต่การซื้อยาแก้ปวดฟันมารับประทานเองโดยไม่มีคำแนะนำที่ถูกต้องอาจเสี่ยงต่อการใช้ยาผิดประเภทหรือเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการปรึกษาเภสัชกรหรือทันตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการเลือกใช้ยาแก้ปวดฟันที่เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการ หากอาการปวดฟันไม่รุนแรงมากและยังไม่สามารถพบทันตแพทย์ได้ทันที การเริ่มต้นด้วยการซื้อยาแก้ปวดฟันจากร้านยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการบรรเทาอาการปวดเบื้องต้น
ประเภทของยาแก้ปวดฟัน
ยาแก้ปวดฟันมีหลากหลายประเภทซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์และประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการแตกต่างกัน การเลือกใช้ยาแก้ปวดฟันให้เหมาะสมกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีและลดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งยาแก้ปวดฟันที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ ได้ดังนี้
ยาแก้ปวดฟัน บรรเทาอาการปวดทั่วไป
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดฟันในระยะเริ่มต้น สามารถเลือกใช้ยาบรรเทาอาการปวดทั่วไปอย่างพาราเซตามอลได้ เพราะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ช่วยลดอาการปวดฟัน แต่อย่างไรก็ตามควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เภสัชแนะนำ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
- ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม
- น้ำหนัก 33-50 กิโลกรัม ทานครั้งละ 1 เม็ด
- น้ำหนัก 51-67 กิโลกรัม ทานครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง
- น้ำหนัก 67 กิโลกรัมขึ้นไปทานครั้งละ 2 เม็ด
ยาแก้ปวดฟัน ชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์
ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาแก้ปวดฟันที่มีประสิทธิภาพสูงในการบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบไปพร้อมกัน ทำให้เหมาะสำหรับการรักษาอาการปวดฟันที่มีสาเหตุจากการอักเสบ ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซิจีเนส (Cyclooxygenase หรือ COX) ที่ทำให้เกิดการอักเสบและอาการปวด ซึ่งยาที่นิยมใช้มีด้วยกันหลายตัว ดังนี้
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- แอสไพริน (Aspirin)
- นาพรอกเซน (Naproxen)
- ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)
- พอนสแตน (Ponstan หรือ Mefenamic acid)
ข้อบ่งใช้ของ NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs)
- ยากลุ่มนี้อาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรทานยาหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ อย่างน้อย 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร)
- การใช้ NSAIDs ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคกระเพาะ โรคไต หรือโรคหัวใจ
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ
ยาชาเฉพาะที่
ยาชาเฉพาะที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของยาแก้ปวดฟันที่ออกฤทธิ์โดยตรงบริเวณที่มีอาการปวด โดยยับยั้งการนำกระแสประสาทความรู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว ทำให้บรรเทาอาการปวดฟันได้อย่างรวดเร็ว ยาชาเฉพาะที่มักอยู่ในรูปแบบเจล น้ำมัน หรือสารละลายที่ใช้ทาหรือหยดบริเวณที่มีอาการปวด ยาชาเฉพาะที่ที่นิยมใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ได้แก่
- เบนโซเคน (Benzocaine)
- ลิโดเคน (Lidocaine)
- น้ำมันกานพลู (Clove oil)
- เมนทอล (Menthol)
ยาปฏิชีวนะ
ในกรณีที่อาการปวดฟันมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ เช่น ฟันผุลึกที่มีหนองบริเวณรากฟัน หรือเหงือกอักเสบรุนแรง ทันตแพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการทำงานของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการอักเสบร่วมกับการให้ยาแก้ปวดฟัน การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมจะช่วยลดการอักเสบและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปยังบริเวณอื่น
- อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
- คลินดามัยซิน (Clindamycin)
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)
ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ปวดฟัน
การใช้ยาแก้ปวดฟันไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ผู้ใช้ต้องอ่านฉลากยาและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องขนาดยาและความถี่ในการใช้ ไม่ควรใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว กำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือแพ้ยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาแก้ปวดฟันทุกครั้ง
สรุป
อาการปวดฟันเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่ามีความผิดปกติในช่องปากที่ต้องได้รับการดูแล การใช้ยาแก้ปวดฟันเป็นเพียงวิธีการบรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา การเลือกใช้ยาแก้ปวดฟันอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของทันตแพทย์หรือเภสัชกรจะช่วยบรรเทาอาการไปจนกว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
เมื่อใช้ยาแก้ปวดฟันเพื่อบรรเทาอาการปวดชั่วคราวแล้ว ควรรับเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวด และรีบทำการรักษาให้ตรงจุด เพื่อช่วยแก้ปัญหาอาการปวดฟันได้ในระยะยาว สำหรับใครที่กำลังมองหาคลินิกทันตกรรมเพื่อดูแลสุขภาพช่องปาก สามารถเข้ามาปรึกษาทันตแพทย์ได้ที่ Smile Seasons เพื่อปรึกษาและรับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม