รำมะนาด หรือโรคปริทันต์ คืออะไร - พบกับทุกสิ่งที่คุณควรรู้ได้ที่นี่
รำมะนาด หรือศัพท์ทางทันตกรรมที่เรียกว่า โรคปริทันต์ เป็นโรคของโครงสร้าง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) รอบๆ ฟัน เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันธรรมชาติ รำมะนาด หรือโรคปริทันต์เกิดขึ้นจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่เนื้อเยื่อปริทันต์รอบๆ ฟัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของฟันและช่องปากของคุณ การดูแลสุขอนามัยช่องปากที่ดีด้วยการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ และการขูดหินปูนทุก 6 เดือน สามารถป้องกันรำมะนาด หรือโรคปริทันต์ได้
โรครำมะนาด เกิดจากอะไร
โรครำมะนาด เป็นหนึ่งในอาการเหงือกอักเสบที่มีความรุนแรง มีสาเหตุเริ่มต้นจากการทำความสะอาดฟันและช่องปากไม่ดีพอจนทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่ก่อโรคได้ ยกตัวอย่าง เช่น
คราบจุลินทรีย์ และแบคทีเรีย
แผ่นฟิล์มเหนียวๆ ซึ่งประกอบไปด้วย แบคทีเรีย เศษอาหาร และของเสีย ซึ่งหากไม่ได้รับการกำจัดอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถสะสมและกระตุ้นการตอบสนองของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อตามมาได้
สุขภาพช่องปากไม่ดี
กิจวัตรประจำวันอย่างการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และการใช้ไหมขัดฟันก่อนนอน นับเป็นการป้องกันโรครำมะนาดที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นการขจัดคราบจุลินทรีย์ และแบคทีเรียซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคที่สำคัญ นอกจากนั้นคุณควรเข้ารับการขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือนอีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
- การสูบบุหรี่ – บุหรี่ลดความสามารถของระบบภูมิคุ้มกัน และขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังเหงือก และเนื้อเยื่อปริทันต์ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรครำมะนาดมากยิ่งขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน – การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน (Menopause) และวัยรุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของเหงือก
- โรคประจำตัวบางอย่าง – เบาหวาน, การติดเชื้อ HIV, โรคที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
- ยา – ยาบางชนิดเช่น ยากันชัก ยาควบคุมภูมิคุ้มกัน ยาลดความดัน Dilantin สามารถทำให้เหงือกเติบโตมากผิดปกติ และยากลุ่มที่สามารถทำให้ปากแห้ง
อาการของโรครำมะนาด
สำหรับอาการของโรครำมะนาดนั้น สามารถแบ่งออกตามลักษณะและความรุนแรงของโรคได้ 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่1: เหงือกเริ่มอักเสบมีสีแดงขึ้น ขอบเหงือกบวมไม่สนิทกับคอฟัน อาจมีเลือดออกขณะแปรงฟัน ในระยะนี้ยังสามารถทำความสะอาดและกำจัดคราบแบคทีเรียได้ด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย
ระยะที่2: เหงือกอักเสบจะบวมและมีสีแดงคล้ำขึ้น ตัวเหงือกเริ่มแยกตัวจากฟัน ร่องเหงือกรอบฟันจะลึกขึ้น เนื่องจากมีการสะสมของแผ่นคราบแบคทีเรียมากขึ้น และไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการแปรงฟัน ในระยะนี่จะเริ่มมีการทำลายในส่วนของกระดูกหุ้มรากฟัน จึงจำเป็นต้องไปพบคุณหมอ เพื่อขูดหรือกำจัดหินน้ำลายออก
ระยะที่3: หินน้ำลายจะจับตัวหนาขึ้น และขยายไปตามรากฟันลึกลงไปในเหงือก ในระยะนี้กระดูกหุ้มรากฟันจะถูกทำลาย เหงือกจะร่น ฟันเริ่มโยกเจ็บปวดขณะเคี้ยวอาหาร ทำให้อาจมีเลือกออก มีหนอง หรือมีกลิ่นปากรุนแรงได้
ระยะที่4: ระยะนี้เป็นระยะที่มีอาการรุนแรงที่สุด โดยมักจะเกิดฝี หรือหนองที่บริเวณเหงือก ทำให้เหงือกบวม และอาจบวมขยายไปจนถึงใบหน้า คนไข้จะรู้สึกปวดฟันมาก และฟันโยกมากขึ้นจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ และต้องถอนฟันไปในท้ายที่สุด
วิธีการวินิจฉัยโรครำมะนาด
สำหรับการวินิจฉัยโรครำมะนาดนั้นก่อนอื่นทันตแพทย์จะทำการ ซักประวัติของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน คนไข้ที่มีน้ำลายน้อย หรือพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นต้น
จากนั้นจึงจะทำการตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อประเมินว่าเหงือกมีอาการอักเสบในตำแหน่งใดบ้าง รวมถึงการตรวจประเมินร่องลึกปริทันต์ เพื่อประเมินปริมาณกระดูกรอบๆ ว่าหินน้ำลายได้สร้างความเสียหายให้กับกระดูกรองรับรากฟันมากน้อยแค่ไหน
ในขั้นตอนสุดท้ายของการวินิจฉัย คุณหมอจึงจะทำการถ่ายภาพ X-ray เพื่อประเมินสภาพกระดูกรองรับรากฟันที่เหลืออยู่โดยละเอียด เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
เราสามารถรักษาโรครำมะนาดได้ 2 รูปแบบ คือ
การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด และต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยการรักษาแต่ละแบบมีรายละเอียด ดังนี้
การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด
- การขูดหินปูน
การขูดหินปูนเป็นการกำจัดคราบสกปรก หรือหินน้ำลายที่เกาะอยู่บริเวณร่องเหงือกและใต้เหงือกที่ลึกลงไป เหมาะกับการรักษาโรครำมะนาดในระยะที่ 2 ที่มีการสะสมของคราบแบคทีเรียที่ไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยการแปรงฟัน
- การเกลารากฟัน
สำหรับการรักษาด้วยการเกลารากฟันนี้เป็นการกำจัดคราบหินน้ำลายและคราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดแน่นลึกลงไปในผิวรากฟันออก เพื่อให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถกลับมายึดติดแน่นติดกับผิวฟันได้เหมือนเดิม ซึ่งโดยปกติแล้วการเกลารากฟันจะต้องฉีดยาชาร่วมด้วย
การรักษาด้วยการผ่าตัด
หากคุณหมอพิจารณาแล้วว่ามีการละลายของกระดูกหุ้มรากฟันไปมาก และไม่สามารถรักษาด้วยการขูดหินปูนได้แล้ว ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแทน เพื่อสร้างเส้นใยเหงือก เอ็นยึด และกระดูกเบ้าฟันที่แข็งแรง และให้ร่องเหงือกตื้นขึ้น
การพิจารณาตัวเลือกในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคปริทันต์ หรือรำมะนาดด้วย กรณีที่การอักเสบรุนแรง และเนื้อเยื่อปริทันต์ถูกทำลายไปมาก และคุณหมอพิจารณาว่าการรักษาไม่สามารถฟื้นฟูเนื้อเยื่อปริทันต์ให้กลับไปอยู่ในสภาวะปกติได้ คุณอาจจำเป็นต้องถอนฟัน และเข้ารับการบูรณะฟันด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการใส่รากฟันเทียม การทำสะพานฟัน หรือทำฟันปลอม
ระยะเวลาที่ใช้ในการโรครำมะนาด
ในความเป็นจริงแล้วโรครำมะนาดใช้เวลารักษาไม่นานอย่างที่คิด แต่เป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องและต้องมีการติดตามผลตลอดทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค รวมถึงต้องดูแลการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอด้วย
วิธีป้องกันการเกิดโรครำมะนาด
เราสามารถการป้องกันโรครำมะนาดได้โดย การแปรงฟันให้สะอาด ใช้อุปกรณ์ในการทำความสะอาดที่เหมาะสมกับลักษณะช่องปากเพิ่มเติม เพราะแปรงสีฟันเพียงอย่างเดียว มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงซอกฟัน หรือร่องเหงือกได้ โดยอาจจะเลือกใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันเพิ่มเติม รวมถึงไปขูดหินปูนสม่ำเสมอตามช่วงเวลาที่คุณหมอแนะนำ
สรุป
โรคปริทันต์ หรือโรครำมะนาดนี้มักจะดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป กว่าที่คนไข้จะรู้ตัว แบคทีเรียก็เข้าทำลายอวัยวะรอบๆ ตัวฟันจนอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียฟันได้ โดยอาการของโรคจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ตามระดับตวามรุนแรงของอาการและความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการขูดหินปูน เกลารากฟัน หรือผ่าตัด และเมื่อรักษาหายแล้วคนไข้ก็จำเป็นต้องดูแลทำความสะอาดสุขภาพในช่องปากให้ดีเป็นประจำและตรวจเช็กสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันให้ฟันอยู่กับเราได้นานที่สุด
หากคุณมีคำถามสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเรา และทำนัดเข้ามาปรึกษากับทันตแพทย์ของ Smile Seasons เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการรักษา รวมทั้งพูดคุยเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนจะตัดสินใจทำรากฟันเทียม ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นัดพบทันตแพทย์จากคลินิกหมอฟัน Smile Seasons จาก 7 สาขาใกล้รถไฟฟ้า
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าพบคุณหมอที่คลินิกทันตกรรม Smile Seasons เพื่อตรวจสุขภาพฟันและรับบริการต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่ช่องทางเหล่านี้
คลินิกหมอฟัน Smile Seasons มีให้คุณเลือกใช้บริการมากถึง 7 สาขา ได้แก่ สาขาสนามเป้า อนุสาวรีย์ชัย, สาขาอโศกทาวเวอร์, สาขาเมเจอร์รัชโยธิน, สาขาอ่อนนุช สาขาท่าพระ ทั้งยังมีอีก 2 สาขาใหม่ที่เตรียมเปิดให้บริการในปลายปีนี้ นั่นคือสาขาสีลม และสาขาราชพฤกษ์ (เซ็นทรัล Westville)
Facebook : smileseasons.dc
Line : @smileseasons.dc
E-mail : smileseasons.dc@gmail.com
Tel : 02-114-3274
ตรวจบทความโดย
ทพญ.จิตพิชญา วิมลไชยจิต
"MSc(Clin) Dent in Periodontology, University of Manchester, UK (ปริญญาโท สาขาปริทันตวิทยา)
ทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่"
รีวิวจากคนไข้ของเรา
โปรโมชั่นอื่นๆ
เลือกน้ำยาบ้วนปากอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง
น้ำยาบ้วนปากเป็นตัวช่วยเสริมในการส่งเสริมให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี แต่ควรเลือกให้มีความเหมาะสมกับสุขภาพช่องปาก แต่จะเลือกอย่างไร คลิกเลย
หลังติดเครื่องมือจัดฟัน ฟันโยกเกิดจากอะไร แก้ไขได้ด้วยวิธีใดบ้าง
หลังจัดฟัน ฟันโยกเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการจัดฟันนานเกินไปและไม่พบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้ฟันโยกหลังจัดฟัน
ชวนหาคำตอบเมื่อเหล็กจัดฟันหลุด ต้องทำอย่างไร
เหล็กจัดฟันหลุด ควรทำอย่างไร? เรียนรู้สาเหตุที่ทำให้เหล็กจัดฟันหลุด พร้อมวิธีรับมือและการป้องกัน ไม่ให้จัดฟันแล้วเหล็กหลุดได้ง่าย ๆ
จัดฟันแล้วปวดฟันเกิดจากอะไร แก้ไขได้อย่างไรบ้าง
อาการจัดฟันแล้วปวดฟันเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แรงดันจากการเคลื่อนฟันหรือการดูแลที่ไม่ดี ปัญหาเหล่านี้ควรรีบแก้ไขก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากอื่น ๆ
เกลารากฟันคืออะไร สำคัญต่อสุขภาพช่องปากอย่างไร
เกลารากฟันเป็นการทำความสะอาดรากฟันใต้เหงือกลึก เพื่อกำจัดหินปูนและเชื้อแบคทีเรีย ช่วยรักษาโรคปริทันต์และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรง
ทำความเข้าใจการปักสกรูเวลาจัดฟันคืออะไร
เจาะลึกทุกเรื่องเกี่ยวกับการปักสกรูจัดฟัน ตั้งแต่ขั้นตอน อาการที่อาจเกิดขึ้น และการดูแลตัวเองหลังปักสกรู พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ