ฟันไม่สบกัน เป็นยังไง จัดฟันได้ไหม แนะนำวิธีแก้ฟันไม่สบกัน หน้าเบี้ยว

ฟันไม่สบกัน เป็นยังไง จัดฟันได้ไหม แนะนำวิธีแก้ฟันไม่สบกัน หน้าเบี้ยว

ฟันไม่สบกัน หรือ ฟันสบเปิด (Openbite) คืออะไร

ฟันไม่สบกัน หนึ่งในปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเพราะอาจส่งผลต่อสุขอนามัยช่องปาก รวมถึงสุขภาพโดยรวมของคุณได้มากกว่าที่คิด นอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม และส่งผลต่อบุคลิกภาพในระยะยาว

ภาวะฟันไม่สบกันเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของคุณอย่างไรบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร วันนี้คุณหมอของคลินิกทันตกรรม Smileseasons จะมาตอบคำถาม พร้อมแนะนำวิธีการแก้ไขและรักษา เช่น จัดฟัน ฯลฯ ให้คุณรู้ อ่านรายละเอียดกันเลย

หัวข้อที่น่าสนใจ

ฟันไม่สบกัน คืออะไร

ฟันไม่สบกัน หรือ ฟันสบเปิด (Openbite) เป็นภาวะทางทันตกรรมที่สามารถพบได้บ่อยๆ ถือเป็นหนึ่งในการสบฟันแบบผิดปกติที่มักนำคนไข้มาพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยการจัดฟัน หากคุณกัดฟันแล้วมีช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่าง โดยส่วนของตัวฟันไม่แตะกัน คุณอาจประสบปัญหาฟันสบกันไม่สนิท หรือฟันสบเปิดอยู่ ภาวะดังกล่าวสามารถเกิดได้ทั้งที่ฟันหน้าซึ่งสามารถสังเกตได้ง่าย หรือเป็นฟันกรามก็ได้เช่นกัน

 

ฟันไม่สบกันจะทำให้คุณไม่สามารถกัดหรือเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากฟันเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญในการออกเสียง เมื่อมีปัญหาฟันไม่สบกันก็อาจทำให้คุณพูดไม่ชัด

ภาวะฟันไม่สบกันเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้ง กรรมพันธุ์ พฤติกรรมบางอย่าง ความผิดปกติในการเจริญเติบโตของกระดูก อย่างไรก็ตามภาวะนี้ ส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดฟัน

สาเหตุของการเกิดปัญหาฟันไม่สบกัน

ฟันไม่สบกัน เกิดจากอะไร

สาเหตุของการเกิดปัญหาฟันไม่สบกันสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

กรรมพันธุ์และพัฒนาการ

ปัญหาฟันไม่สบกันที่เกิดจากพันธุกรรม อาจมีผลทำให้ขากรรไกรเจริญเติบโตผิดรูป ฟันจึงไม่สามารถงอกออกมาพ้นเหงือกได้เต็มที่ เกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่างขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้โครงสร้างของใบหน้าเจริญเติบโตผิดรูปได้

พฤติกรรมการใช้ชีวิตในวัยเด็ก

พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การดูดนิ้ว การดูดจุกนม หรือการดูดขวดนมในวัยเด็กที่ทำติดต่อกันจนกระทั่งฟันแท้ขึ้นจะส่งผลให้มีพฤติกรรมการกลืนที่ผิดปกติ เพราะจะทำให้ปลายลิ้นดันกับบริเวณฟันบนด้านหน้า ซึ่งโดยปกติแล้ว วิธีการกลืนที่ถูกต้องคือลิ้นจะต้องแตะเพดานปากด้านบน และไม่มีการสัมผัสกับฟัน การกลืนผิดปกติจึงส่งผลให้เกิดปัญหาฟันสบกันไม่สนิทได้

การได้รับบาดเจ็บ

การได้รับบาดเจ็บบริเวณขากรรไกรโดยตรงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาฟันไม่สบกันได้ และอาจมีผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับฟันในด้านอื่นได้อีกด้วย

ฟันไม่สบกัน ส่งผลต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

ฟันไม่สบกัน ส่งผลต่อชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ ดังนี้

การบดเคี้ยวที่ผิดปกติ

การมีช่องว่างระหว่างฟันด้านบนและล่างจากการที่ฟันไม่สบกันสนิท ย่อมลดความสามารถของคุณในการกัด หรือเคี้ยวอาหารให้ละเอียด คุณจะรับประทานอาหารบางชนิดได้ยากมากขึ้น และยังผลักภาระการย่อยอาหารไปให้กับกระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำให้คุณอาจรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวการบดเคี้ยวที่ผิดปกติ อาจส่งผลให้รับประทานอาหารได้ลดลง และนำไปสู่ปัญหาทางโภชนาการ

พูดไม่ชัด

การออกเสียงเช่น ตัวส.เสือ หรือตัว S ซึ่งจำเป็นต้องใช้ฟัน ซึ่งถือเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งในการพูด หากมีภาวะฟันไม่สบกันและไม่ได้รับการแก้ไข ลิ้นและริมฝีปากก็อาจมีการทำงานบกพร่องตามมา ซึ่งจะทำให้การออกเสียงพูดแย่ลงได้ในระยะยาว

โรคของข้อต่อขากรรไกร

การสบฟันที่ผิดปกติจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint) หดเกร็งตัวผิดปกติ และอาจทำให้ข้อต่อขากรรไกรเสื่อมเร็วกว่าปกติในอนาคต ซึ่งอาจทำให้คุณมีอาการปวดบริเวณหน้ากกหู หรือขมับ ได้ยินเสียงป๊อปหรือคลิกขณะอ้าปาก หรือเคี้ยวอาหาร รวมทั้งอ้าปากได้ไม่สุด

เสียความมั่นใจ

รอยยิ้มของคุณส่งผลต่อบุคลิกภาพ และความมั่นใจของคุณมากกว่าที่คิด ฟันที่ไม่สบกัน หรือสบเปิดอาจส่งผลให้คุณไม่กล้ายิ้ม การออกเสียงไม่ชัดก็จะทำให้คุณรู้สึกเสียความมั่นใจเวลาพูด โดยเฉพาะตอนประชุม หรือการขึ้นพูดในที่สาธารณะ การแก้ไขภาวะฟันไม่สบกันนอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพช่องปากแล้ว ยังส่งผลดีต่อความมั่นใจ รวมถึงความเคารพในตัวเองของคุณได้อีกด้วย

ปัญหาทันตกรรมอื่นๆ

เช่นเดียวกับการสบฟันที่ผิดปกติอื่นๆ ฟันที่ไม่สบกัน หรือเรียงตัวไม่เป็นระเบียบทำให้การทำความสะอาดช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงนั้นเป็นไปได้ยากกว่าปกติ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทันตกรรมอื่นๆ เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ เป็นต้น

ฟันสึกเร็วผิดปกติ

เมื่อคุณไม่สามารถกัด หรือเคี้ยวอาหารได้เพราะฟันสบเปิด ฟัน รวมถึงกล้ามเนื้อของฟันซี่อื่นอาจต้องรับภาระแรงกดที่มากกว่าปกติทำให้เกิดการสึกในอัตราเร็วกว่าคนทั่วไป คุณอาจมีอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันขณะเคี้ยวรับประทานอาหาร

วิธีแก้ไขปัญหาฟันไม่สบกัน

ฟันไม่สบกัน แก้ไขยังไงได้บ้าง

การแก้ไขปัญหาฟันไม่สบกัน สามารถทำได้ทั้งการจัดฟันและการผ่าตัดขากรรไกร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและสภาพโครงหน้าของแต่ละคนร่วมด้วย จึงควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาไปตามแต่ละกรณีของแต่ละบุคคลมากกว่า แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาฟันไม่สบกัน ดังนี้

การจัดฟัน (Orthodontic Treatment)

หลายคนอาจสงสัยว่า ฟันไม่สบกัน จัดฟันได้ไหม ต้องบอกว่า การจัดฟัน เป็นทางเลือกหลักในการรักษาภาวะฟันสบกันไม่สนิท หรือฟันสบเปิด สามารถใช้ระบบการจัดฟันแบบใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็น จัดฟันแบบโลหะ จัดฟันแบบใส ดี-aligner และจัดฟันแบบใส invisalign หรือจัดฟันแบบดามอน การจัดฟันสามารถแก้ไขปัญหาโดยตรงของฟันสบเปิด ด้วยการเคลื่อนฟันให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเป็นระเบียบ ระยะเวลาการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความซับซ้อน แต่โดยส่วนใหญ่การจัดฟันในผู้ป่วยที่มีการสบฟันผิดปกติ มักใช้เวลานานกว่าเพราะถือว่าเป็นกรณีที่มีความซับซ้อนสูง

การใช้อุปกรณ์ Functional appliances

Functional appliances เป็นเครื่องมือจัดการความผิดปกติของโครงสร้างฟัน ใช้ในการแก้ไขภาวะฟันไม่สบกันที่เกิดจากตำแหน่ง หรือรูปร่างของกระดูกขากรรไกร โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกใส่เพื่อปรับเปลี่ยนการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือมีรูปร่างที่ดีขึ้น ช่วยจัดตำแแหน่งฟัน และปรับปรุงการสบฟัน เครื่องมือนี้มักถูกใช้ในคนไข้เด็ก และวัยรุ่นซึ่งยังมีการเจริญเติบโตของกระดูกอยู่

การปรับพฤติกรรม

พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การหย่าขวดนมช้า การติดจุกขวดนม การใช้ลิ้นดุนฟัน สามารถก่อให้เกิดปัญหาฟันสบเปิดได้ เด็กๆ ควรหย่าขวดนมที่อายุครบ 1 ขวบ โดยปรับเปลี่ยนมาดื่มจากแก้วแทน หากคุณมีพฤติกรรมการใช้ลิ้นดุนฟันเป็นประจำ หรือมีพฤติกรรมการกลืนที่ไม่เหมาะสม คุณหมออาจต้องทำงานร่วมกับนักบำบัดการพูด หรือคุณหมอเฉพาะทางที่ดูแลเกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อในช่องปาก เพื่อฝึกลิ้นใหม่ และสร้างนิสัยในช่องปากที่เหมาะสม

การผ่าตัด

หากฟันไม่สบกัน หรือฟันสบเปิดนั้นเกิดขึ้นจากตำแหน่ง รูปร่าง หรือการเรียงตัวที่ผิดปกติของกระดูกขากรรไกรในผู้ใหญ่ คุณอาจต้องได้รับการผ่าตัดขากรรไกรเพื่อจัดตำแหน่งใหม่ให้ได้แนวและการบดเคี้ยวที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องจัดฟันร่วมด้วย สำหรับคนไข้จัดฟันของ Smile Seasons ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด คุณจะได้รับการดูแลจากทั้งคุณหมอเฉพาะทางด้านจัดฟัน และศัลยกรรมช่องปาก โดยคุณหมอจะทำการผ่าตัดในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลทันตกรรมที่ได้มาตรฐาน และต้องมีเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดใน รพ. อีกประมาณ 3-5 วัน

สรุป

ปัญหาฟันไม่สบกัน หรือ ฟันสบเปิด (Openbite) เป็นปัญหาที่ไม่ควรวางใจ เพราะสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในช่องปาก หรือร่างกายโดยรวม นอกจากนั้นยังกระทบต่อความมั่นใจ บุคลิกภาพ และความภาคภูมิใจในตนเองของคุณอีกด้วย การรักษานั้นไม่ได้เพียงมุ่งเน้นเพียงแค่แก้ไขความสวยงามเท่านั้น แต่คุณหมอยังต้องการให้คุณมีสุขภาพที่ดีอย่างยั้งยืนอีกด้วย

บทความโดย

Picture of ทพญ.นพวรรรณ สลิลปราโมทย์

ทพญ.นพวรรรณ สลิลปราโมทย์

ประกาศนียบัตรสาขาทันตกรรมจัดฟัน สมาคมทันตกรรมจัดฟันและการวิจัยแห่งประเทศไทย
ทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์

รักษาอาการฟันไม่สบกันกับ Smile Seasons

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กัดฟันแล้วมีช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่าง คุณอาจกำลังมีปัญหาภาวะฟันไม่สบกัน คุณสามารถทำนัดเข้ามาขอคำปรึกษากับคุณหมอของ Smile Seasons ซึ่งเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญของเราประกอบได้ด้วยคุณหมอฟันเฉพาะทางจากทุกสาขาวิชา และเรามีเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาอาการฟันสบกันไม่สนิทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

และถ้าหากมีปัญหาสุขภาพในช่องปากอื่นๆ และต้องการทำทันตกรรมเพิ่มเติม เช่น ขูดหินปูน, รักษารากฟัน, ฟอกสีฟัน, ผ่าฟันคุด, อุดฟัน, ถอนฟัน ฯลฯ สามารถปรึกษาทีมแพทย์ของเราได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำนัดได้เลยที่ โทร 02-114-3274 หรือ LINE @smileseasons.dc

Reference

diamond braces. (n.d.). What is Open Bite – Symptoms, Diagnosis and Treatment. from https://www.diamondbraces.com/conditions/open-bite/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้