ผ่าฟันคุด

ข้อควรรู้ ผ่าฟันคุด ถอนฟันคุด เจ็บไหม ราคาเท่าไหร่ เตรียมตัวอย่างไรบ้าง

หลายคนมักพบปัญหากับฟันกรามซี่สุดท้ายที่เรียกว่า “ฟันคุด” ซึ่งมักขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น บ้างก็กังวลว่าต้องถอนออกหรือไม่ บ้างก็สงสัยว่าตัวเองมีฟันคุดอยู่หรือเปล่า บทความนี้ Smile Seasons จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับฟันคุด ตั้งแต่การวินิจฉัย ไปจนถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างถูกต้อง

  • ฟันคุดเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายที่มักขึ้นในช่วงอายุ 16-25 ปี แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน บางคนอาจมีฟันคุดเพียง 1-2 ซี่ หรือบางคนอาจไม่มีเลย
  • ฟันคุดมีหลายประเภท ทั้งคุดแนวตั้ง แนวเอียง แนวนอน หรือคุดคว่ำ ซึ่งแต่ละแบบมีความเสี่ยงและความยากง่ายในการรักษาที่แตกต่างกัน
  • การมีฟันคุดไม่ได้หมายความว่าต้องถอนออกเสมอไป หากฟันคุดขึ้นสมบูรณ์และไม่ก่อปัญหา ก็สามารถเก็บไว้ได้ แต่ต้องดูแลทำความสะอาดเป็นพิเศษ
  • หากฟันคุดก่อให้เกิดปัญหา เช่น ปวด บวม ติดเชื้อ กดทับฟันข้างเคียง หรือมีถุงน้ำ ทันตแพทย์จะพิจารณาถอนหรือผ่าออก
  • การวินิจฉัยฟันคุดต้องอาศัยการตรวจช่องปากและเอกซเรย์ เพื่อดูตำแหน่ง ทิศทาง และความสัมพันธ์กับโครงสร้างใกล้เคียง
  • การรักษาฟันคุดไม่ควรรอให้มีอาการรุนแรง เพราะอาจทำให้การรักษายากขึ้นและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

ฟันคุด (Wisdom Teeth) คืออะไร

  • ฟันคุด หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Wisdom tooth เป็นฟันกรามซี่สุดท้าย (ซี่ที่ 3) ซึ่งปกติจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงอายุ 20 ต้น
  • คนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ (ด้านบนซ้าย บนขวา ล่างซ้าย ล่างขวา)
  • หากขากรรไกรมีพื้นที่ไม่พอให้ฟันคุดขึ้นได้ตามปกติ หรือฟันคุดขึ้นในตำแหน่งและมุมที่ไปชนกับฟันซี่อื่น ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้
  • ฟันคุดอาจทำให้เกิดเหงือกและอวัยวะโดยรอบอักเสบ หรือติดเชื้อได้  ซึ่งเป็นที่มาของอาการปวดฟันคุดหรือฟันคุดอักเสบได้
  • นอกจากนั้นฟันคุดยังทำความสะอาดได้ยาก คุณหมอจึงมักแนะนำให้ผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุดออกถึงแม้จะไม่มีอาการปวดฟันคุดก็ตาม

ผ่าฟันคุด ถอนฟันคุด คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

เมื่อฟันคุดก่อให้เกิดการอักเสบ หรือสร้างปัญหาทันตกรรมอื่นๆ คุณหมอจะแนะนำให้จัดการกับฟันคุด โดยวิธีการรักษาคือการผ่าฟันคุด หรือการถอนฟันคุดนั่นเอง ซึ่งแต่ละแบบมีความแตกต่าง ความยากง่าย ผ่าฟันคุด ราคาค่ารักษาก็ไม่เท่ากัน รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นก็แตกต่างกันด้วย

ผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุด คือการรักษาฟันคุดในกรณีที่ฟันคุดซี่นั้นยังอยู่ใต้เหงือก หรือโผล่พ้นเหงือกมาแล้วแต่ขึ้นไม่หมดทั้งซี่ การผ่าฟันคุดจะมีความซับซ้อน ใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า ส่วนใหญ่ต้องมาการเย็บปิดบาดแผล และคุณต้องเข้ามาตัดไหมตามนัดของคุณหมอ

ถอนฟันคุด

การถอนฟันคุด คือการรักษาฟันคุดในกรณีฟันคุดโผล่ขึ้นมาทั้งซี่เรียบร้อยแล้ว การถอนฟันคุดใช้เวลา และมีค่ารักษาน้อยกว่า รวมทั้งมักไม่ต้องเย็บแผลด้วย

 

บางคนอาจจะสงสัยว่าถอนฟันคุด กับ ถอนฟันปกติทั่วไป แตกต่างกันหรือไม่ ลองมาหาคำตอบของคำถามที่คุณสงสัยในบทความ ถอนฟัน จากทันตแพทย์เพิ่มเติมได้ที่นี่! 

toothache

สาเหตุของการเกิดฟันคุด

นักโบราณคดีเชื่อว่าในสมัยโบราณ บรรพบุรุษของมนุษย์ใช้ฟันชุดนี้ ในการเคี้ยวอาหารที่เหนียว และแข็งมากๆ เช่น ถั่ว ราก/ใบไม้ และธัญพืช เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น อาหารของเราได้รับการปรุงให้รับประทานง่าย ขนาดของกระดูกขากรรไกรจึงเล็กลงเรื่อยๆ  ทำให้ฟันคุดซึ่งเป็นฟันกรามซี่สุดท้ายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดไม่มีพื้นที่พอที่จะขึ้นได้อย่างปกติ จนเป็นสาเหตุที่เราต้องมาผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุดกันในทุกวันนี้

ลักษณะ และ รูปแบบการขึ้นของฟันคุด

ฟันคุดมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะ และมุมของฟันคุดกับฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้

1. ฟันคุดหันเข้าหาฟันข้างเคียง (Mesial impaction)

ฟันคุดจะมีลักษณะทำมุมเอียง และดันฟันกรามซี่ข้างเคียงจากทางด้านหน้า มีชื่อเรียกอื่นว่า Angular หรือ Mesioangular impaction ลักษณะฟันคุดแบบนี้จะพบได้บ่อยที่สุด และมักขึ้นมาไม่เต็มซี่

2. ฟันคุดในลักษณะแนวเอียง (Distal impaction)

เป็นลักษณะฟันคุดที่พบไม่บ่อย และเรียงตัวในทิศตรงข้ามกับ Mesial นั่นคือ ฟันคุดจะเอียงไปด้านหลังที่ไม่มีฟันอยู่ ทำให้หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งและมุมที่ไม่เอียงมาก จะมีโอกาสโผล่ขึ้นมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ หากคุณมีฟันคุดแบบนี้ คุณอาจจะไม่ต้องผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด หรือในบางกรณี คุณหมออาจจะรอติดตามไปสัก 1-2 ปีก่อนจะตัดสินใจว่าต้องผ่าหรือไม่

3. ฟันคุดที่ขึ้นในลักษณะแนวตั้ง (Vertical impaction)

ฟันคุดแบบนี้จะตั้งตรงในมุมปกติไม่เอียงไปดันฟันซี่ข้างเคียง ถือเป็นฟันคุดประเภทที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี เพราะมีโอกาสสูงที่จะสามารถขึ้นมาได้ตามปกติโดยไม่ต้องผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด

4. ฟันคุดในลักษณะแนวนอน (Horizontal impaction)

ฟันคุดจะเรียงตัวในตำแหน่งแนวนอน ถือเป็นฟันคุดที่เอาออกยากที่สุด ใช้เวลาในการรักษาและฟื้นตัวมากที่สุด ฉะนั้นคุณควรได้รับการรักษาจากคุณหมอฟันเฉพาะทางด้านศัลยกรรม

 

ฟันคุดมีกี่ซี่

คนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ แบ่งเป็นฟันคุดบน 2 ซี่ และฟันคุดล่าง 2 ซี่ โดยฟันคุดจะขึ้นบริเวณมุมปากด้านในของช่องปาก โดยทั่วไปจะขึ้นในช่วงอายุ 17-25 ปี อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่มีฟันคุดเลย หรือมีมากกว่า 4 ซี่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขนาดของขากรรไกร ความผิดปกติของฟัน หรือพันธุกรรม

อาการฟันคุดแบบไหนที่ควรผ่าฟันคุด

ส่วนใหญ่แล้วฟันคุดมักโผล่ขึ้นในวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงต้นของวัยผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 17-25 ปี) คนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรือบางคนอาจมีอาการดังต่อไปนี้

 

  • ปวดตึง อักเสบ และอาจมีเลือดออกบริเวณเหงือก เนื่องจากเป็นโรคปริทันต์
  • เหงือกบวม บางครั้งอาจบวมไปถึงแก้ม หรือกราม ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบ หรือติดเชื้อ
  • ปวดบริเวณขากรรไกร
  • ฟันผุ เนื่องจากการแปรงฟัน และการใช้ไหมจัดฟันยากกว่าปกติ
  • การรับรส และลมปากมีกลิ่นผิดปกติ เพราะเศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณที่ทำความสะอาดยาก
  • อ้าปากลำบาก / เจ็บเวลาอ้าปาก กรณีอาการบวมอักเสบลุกลามออกมานอกช่องปาก

 

หากคุณมีอาการดังกล่าวคุณอาจจำเป็นต้องผ่าฟันคุดโดยเร็วเพื่อป้องกันการลุกลามใหญ่โตของปัญหาทางทันตกรรมที่เกิดขึ้น

เราควรผ่าฟันคุดหรือไม่

คุณไม่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดทุกซี่ เหตุผลหลักที่คุณหมอจะแนะนำให้คุณต้องผ่าฟันคุด คือฟันคุดซี่นั้นทำความสะอาดได้ยาก มีความเสี่ยงกับการอักเสบ และติดเชื้อในภายหลัง

การผ่าตัดในช่วงอายุ 18-25 ปี สามารถทำได้ง่าย แผลหายไว ผลแทรกซ้อนน้อย รู้แบบนี้แล้ว อย่ารีรอรีบผ่าออกแต่เนิ่นๆ ก็จะไม่เกิดผลเสียภายหลัง

ข้อบ่งชี้สำหรับการถอนหรือผ่าฟันคุดที่ทันตแพทย์แนะนำ

  • ฟันคุดซี่นั้นเคย หรือกำลังก่อให้เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อ
  • ฟันคุดเรียงตัวผิดปกติ
  • ฟันคุดไม่มีฟันคู่สบด้านบน หรือล่าง หรือฟันคุดนั้นทำให้การสบฟันผิดปกติ
  • ฟันคุดขึ้นมาแค่บางส่วนไม่เต็มซี่

ฟันคุดแบบไหนไม่ต้องผ่า

ผ่าฟันคุด อันตรายไหม

อันตรายจากการผ่าฟันคุดนั้นอยู่ในระดับต่ำ หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ อยู่ลึกมาก หรือมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ก็จะทำให้การผ่าฟันคุดมีความซับซ้อน ใช้เวลานาน และอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ ซึ่งอันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ เลือดออก ภาวะ Dry Socket การอักเสบติดเชื้อ และการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท


 อย่างไรก็ตาม คุณหมอไม่อยากให้คุณกังวลจนเกินไป หากคุณหมอแนะนำให้คุณผ่าฟันคุดนั่นแปลว่า คุณหมอพิจารณาแล้วว่า ประโยชน์ที่ได้มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อคุณ และถึงแม้จะเกิดผลข้างเคียงขึ้น ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ และเป็นอยู่ชั่วคราว

ทำไมต้องผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุด อันตรายไหม

อันตรายจากการผ่าฟันคุดนั้นอยู่ในระดับต่ำ หากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ อยู่ลึกมาก หรือมีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย ก็จะทำให้การผ่าฟันคุดมีความซับซ้อน ใช้เวลานาน และอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตาม คุณหมอไม่อยากให้คุณกังวลจนเกินไป หากคุณหมอแนะนำให้คุณผ่าฟันคุดนั่นแปลว่าคุณหมอพิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อคุณ และถึงแม้จะเกิดผลข้างเคียงขึ้น ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ และเป็นอยู่ชั่วคราว

 

อันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เลือดออก ภาวะ Dry Socket การอักเสบติดเชื้อ และการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ผ่าฟันคุด

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากไม่ผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด คือ

  • เหงือกที่คลุมฟันคุดอักเสบ เพราะฟันคุดที่ขึ้นมาบางส่วนจะมีเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่าย แต่ทำความสะอาดได้ยากส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียสะสม ก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ปวด บวมเป็นหนองได้ หากทิ้งไว้ การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ส่งผลต่อการหายใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • ฟันผุ จากการที่ฟันคุดและฟันกรามซี่ที่ 2 อยู่ชิดกันในลักษณะที่ผิดปกตินี้ ทำให้ทำความสะอาดยาก เศษอาหารติดค้างจึงทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
  • กระดูกละลาย จากแรงดันของฟันที่พยายามขึ้นมา ทำให้กระดูกรอบๆ รากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
  • เกิดเป็นถุงน้ำ (Cyst) ฟันคุดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดถุงน้ำ และยังสามารถขยายขนาดจนทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกบริเวณรอบๆ
  • กลิ่นปาก เหงือกที่อักเสบ ฟันผุ และเศษอาหารตกค้างสามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ฟันคุดจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คุณมีกลิ่นปาก ซึ่งทำให้คุณเสียบุคลิกภาพ
เราไม่ผ่าฟันคุด ถอนฟันคุดได้ไหม

ผ่าฟันคุดเจ็บไหม

หากคุณกำลังกังวลว่าผ่าฟันคุดเจ็บไหม – การผ่าฟันคุดไม่เจ็บมากอย่างที่คิด เพราะคุณหมอจะฉีดยาชาให้ก่อนทำการผ่าฟันคุด ดังนั้น คุณจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยตอนคุณหมอฉีดยาชาให้ หลังจากนั้นคุณจะรู้สึกแค่ตึงๆ นิดหน่อยเท่านั้น แต่หลังจากที่ยาชาหมดฤทธิ์ อาจมีอาการปวดอยู่บ้าง โดยคุณหมอจะให้ยาแก้ปวดกลับไปทานที่บ้าน ซึ่งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นถือว่าน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ ความเจ็บปวด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฟันคุดซี่นั้นมีปัญหา

ผ่าฟันคุดกี่วันหายเจ็บ หายบวม

  • หนึ่งในคำถามที่คุณหมอมักได้รับคือ ผ่าฟันคุดบวมกี่วัน ผ่าฟันคุดกี่วันหาย 
  • การถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด จะใช้เวลาหายประมาณ 1 อาทิตย์
  • หลังผ่าฟันคุดเหงือกบวมได้ประมาณ 2-3 วันแรก คุณอาจมีอาการปวด ทำให้รับประทานอาหารลำบาก หากเป็นไปได้เราแนะนำให้คุณหยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หลังจากนั้นเมื่อคุณรับประทานอาหารได้ดีขึ้น และแผลเริ่มหาย อาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น
  • หากคุณหมอเย็บแผลเอาไว้ คุณจะต้องมาตัดไหมตามนัดที่ประมาณ 7-10 วันหลังจากผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุดราคาเท่าไหร่

การผ่าฟันคุด ราคาจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยดังนี้

  • ตำแหน่งของฟันคุด ฟันคุดที่อยู่ลึกในกระดูกขากรรไกร ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ตามปกติ ซึ่งทำให้การผ่าฟันคุดใช้ระยะเวลานาน และมีความซับซ้อนมากกว่า
  • การวางตัวของฟันคุด ฟันคุดที่วางตัวกลับหัว หรือพาดอยู่ใกล้เคียงกับฟันกรามซี่อื่นนั้นต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มเติมในการรักษา
  • มีผลข้างเคียง ฟันคุดที่มีเหงือกอักเสบมาก หรือมีถุงน้ำ อาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะด้วยยา หรือหัตถการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากขึ้น
  • ทันตแพทย์ผู้รักษา หากเคสของคุณเป็นฟันคุดที่มีความซับซ้อน หรืออยู่ในตำแหน่งที่ผ่าออกได้ยาก คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม ฉะนั้น ถ้าคุณหมอฟันของคุณส่งต่อเคสของคุณให้คุณหมอศัลยกรรม ค่ารักษาของคุณก็อาจจะสูงขึ้น
  • คลินิกทันตกรรม ที่คุณเข้ารับการรักษา แน่นอนว่าอัตราค่าบริการของแต่ละคลินิกย่อมไม่เท่ากัน  การผ่าฟันคุณราคาโรงพยาบาลรัฐก็จะถูกกว่า แต่ก็ต้องแลกกับการรอคิวที่ยาวนาน นอกจากนี้หากคุณมีสิทธิประกันสังคม คุณสามารถใช้สิทธิเบิก 900 บ. และชำระส่วนต่างค่ารักษาได้ ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยคุณสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลค่ารักษากับเราได้ตลอดเวลา

สำหรับอัตราค่าบริการผ่าฟันคุดที่ Smile Seasons จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

  • ผ่าฟันคุดแบบปกติ ราคา 2,800-5,000 บาท
  • ผ่าฟันคุดยากผิดปกติ / ฟันฝัง ราคา 5,500-8,000 บาท

 

เตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด

leave

1. ลางาน ลาเรียน ล่วงหน้า

หลังจากผ่าฟันคุด คุณอาจจะยังรู้สึกปวด บวม และในบางครั้งยาชาอาจออกฤทธิ์ได้ถึง 12-24 ชม. ฉะนั้นคุณควรพักผ่อนอย่างน้อย 1-2 วันที่บ้านให้หายดีก่อนกับไปเรียน หรือทำงาน

taxi

2. นั่งแท็กซี่ หรือหาคนมาส่ง

หลังผ่าฟันคุด คุณอาจจะรู้สึกตึง และอยากพัก คงไม่ใช่เรื่องดีแน่หากคุณต้องขับรถกลับบ้านเองทั้งอย่างนั้น คุณหมอแนะนำให้ มีคนขับรถมารับส่งคุณ หรือใช้บริการแท็กซี่จะดีกว่า

medication

3. กินยาตามคำแนะนำ

ก่อนผ่าฟันคุด คุณควร ‘หยุดยา’ หรือ ‘กินยา’ บางตัวตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด คุณควรบอกประวัติการรับประทานยาทั้งหมดของคุณ ให้คุณหมอทราบ โดยเฉพาะยาที่รบกวนการแข็งตัวของเลือด

soup

4. ซื้ออาหารอ่อนๆ มาเตรียมไว้

อาการปวดตึงหลังผ่าฟันคุดมักเป็นอยู่ 1-2 วัน และคุณอาจรู้สึกไม่อยากออกไปไหน จึงเป็นการดีกว่าถ้าคุณจะเตรียมอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้โดยไม่ต้องออกแรงเคี้ยวมาก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม พุดดิ้ง ซุป หรือโยเกิร์ต

plus

5. คำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม ก่อนผ่าฟันคุด

  • นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 8 ชม. ก่อนผ่าฟันคุด
  • สวมใส่ชุดสบายๆ ไม่รัด ถ้าคุณผมยาว คุณหมอแนะนำให้รวดมัดผมไว้ด้านหลังให้เรียบร้อย
  • หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับ การแต่งหน้า ทาลิปสติก
  • เตรียม Series เรื่องโปรด หรือเกมส์ที่เล่นค้างอยู่เอาไว้ คุณจะได้พัก 1-2 วัน ใช้เวลานี้ให้คุ้มค่า

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

  1. ตรวจวัดความดันโลหิต – หากคุณมีโรคประจำตัว หรืออายุมาก คุณหมอจะขอให้คุณวัดความดันโลหิตก่อนเริ่มผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด ความดันโลหิตที่สูงมากอาจส่งผลให้เลือดออกได้มากผิดปกติ และเป็นอันตรายได้ หากตรวจพบคุณหมออาจเลื่อนนัดผ่าฟันคุดของคุณออกไปก่อน จนกว่าจะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น
  2. ฉีดยาชา – ก่อนถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด คุณหมอจะฉีดยาชาให้กับคุณ และตรวจสอบว่ายาชาออกฤทธิ์ได้ดีแล้วก่อนเริ่มขั้นตอนถัดไป ซึ่งหลังจากนี้คุณจะแค่รู้สึกตึงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ต้องกังวล
  3. เปิดช่องบนเหงือก – เพื่อเข้าถึงฟันคุดที่ยังไม่โผล่ขึ้นมา หรือโผล่ขึ้นมาไม่เต็มที่ คุณหมอจะตัดเปิดช่องบนเหงือกเพื่อเข้าถึงฟันคุดซี่ที่ต้องการผ่าออก
  4. เอาฟันคุดออก – คุณหมออาจจำเป็นต้องกรอกระดูกออกเล็กน้อย และตัดฟันคุดออกเป็นชิ้นที่เล็กลงเพื่อให้เอาออกได้ง่ายขึ้น ในขั้นตอนนี้คุณจะรู้สึกตึงเล็กน้อย ระหว่างที่คุณหมอกำลังโยกเพื่อสร้างพื้นที่เพิ่มเติมในการถอนฟันคุดออก
  5. ล้างแผล และเย็บปิด – หลังฟันคุดถูกเอาออกไปหมดแล้ว คุณหมอจะล้างแผล และใช้ไหมเย็บปิดบาดแผล รวมทั้งเช็คว่าไม่มีเลือดออกแล้วก่อนจะให้คำแนะนำคุณเพิ่มเติม พร้อมกับจ่ายยาให้คุณกลับไปรับประทาน คุณจะมีนัดตัดไหมอีกครั้งในอีก 7-10 วัน

ผ่าฟันคุดนานไหม ใช้เวลาเท่าไหร่ ?

ผ่าฟันคุดนานไหม? การผ่าฟันคุดโดยปกติใช้เวลาประมาณ 20-45 นาที ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเคส อย่างไรก็ตามการผ่าฟันคุดที่ต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ไม่ใช่เรื่องที่พบเจอไม่ได้ บางครั้งคุณหมอประเมินจากการตรวจช่องปาก และเอ็กซเรย์ แล้วดูเป็นเคสที่ไม่ซับซ้อน แต่เอาเข้าจริงพอเปิดเข้าไป อาจมีความยากที่ซ่อนอยู่ก็ได้

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังผ่าฟันคุด

  • เลือดออกจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ
  • มีไข้ หรือการติดเชื้อหลังจากการผ่าฟันคุด
  • ริมฝีปากชานานผิดปกติ
  • Dry Socket คือภาวะที่ลิ่มเลือดที่คลุมบริเวณแผลผ่าตัดหลุดออกไป ซึ่งจะทำให้กระดูกไม่มีอะไรมาปกคลุมและเกิดอาการปวดขึ้นมาได้
  • เกิดความเสียหายต่อฟันซี่ข้างเคียง หรืออวัยวะโดยรอบ เช่น กระดูกขากรรไกร หรือไซนัส

อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก และสามารถแก้ไขได้โดยการกลับไปพบคุณหมอ คุณจึงไม่ควรกังวลมากจนไม่ยอมผ่าฟันคุดออก เพราะคุณหมอคิดว่าการเก็บฟันคุดที่มีข้อบ่งชี้ในการเอาออกนั้น เป็นอันตรายกับตัวคุณมากกว่า

หลังผ่าฟันคุดกิน และ ห้ามกิน อะไรบ้าง ?

หลังผ่าฟันคุดสามารถกินอะไรได้บ้าง?

เป็นเรื่องสำคัญที่หลังผ่าฟันคุดแล้วคุณควรเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ไม่ต้องเคี้ยว นี่คืออาหารที่เราแนะนำ

 

  • ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม – อาหารจำพวกนี้เป็นทางเลือกที่ดีเพราะกลืนง่าย และให้สารอาหารรวมถึงโปรตีนที่เพียงพอ และเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของแผล
  • สมูตตี้ – สมูตตี้สามารถทำจากผักและผลไม้ที่คุณชื่นชอบ ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินสำคัญๆ ที่คุณควรได้รับ
  • โยเกิร์ต – โยเกิร์ตนั้นอุดมไปด้วยโปรตีน และแคลเซียม แถมเวลาทานอะไรเย็นๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้นิดหน่อยด้วย
  • ไข่กวน, ไข่ตุ๋น – ไข่เป็นอาหารที่ปรุงง่าย และมีอยู่แทบทุกครัวเรือน ถือเป็นอีกหนึ่งโปรตีนที่มีประโยชน์ซึ่งคุณควรได้รับ

หลังผ่าฟันคุดห้ามกินอะไรบ้าง?

หลังผ่าฟันคุดคุณควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้

 

  • อาหารที่แข็ง หรือกรอบๆ – ยกตัวอย่างเช่น ป๊อปคอร์น มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วต่างๆ ลูกอมแข็งๆ เศษอาหารเหล่านี้สามารถไปติดอยู่ในแผลผ่าฟันคุดได้โดยง่าย และทำให้เกิดการระคายเคือง เลือดออกซ้ำ รวมทั้งรบกวนกระบวนการหายของแผลด้วย
  • อาหารที่เหนียวมาก – คาราเมล ท็อฟฟี่ หมากฝรั่ง อาหารที่เหนียวจะดูดลิ่มเลือดบริเวณปากแผลผ่าฟันคุดให้หลุดออกได้ ลิ่มเลือดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการแข็งตัวของเลือดเป็นอย่างมาก หากหลุดออกอาจทำให้เลือดออกซ้ำใหม่ได้
  • อาหารรสจัด – เช่น อาหารเผ็ด หรือเปรี้ยวมาก เนื่องจากไประคายเคืองแผลผ่าฟันคุดได
  • แอลกอฮอล์ – เนื่องจากไปขัดขวางกระบวนการหายของแผลผ่าฟันคุด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และภาวะกระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Dry socket)

ข้อปฎิบัติตัวหลังผ่าฟันคุด

คำแนะนำหลังผ่าฟันคุด

เลือดออก

  • กัดผ้าก็อซอย่างต่อเนื่องให้แน่นเป็นเวลาอย่างน้อย 30-45 นาที หากยังมีเลือดซึม ให้เปลี่ยนผ้าก๊อซแล้วกัดต่ออีก 30-45 นาที คุณอาจจะต้องเปลี่ยนผ้าก๊อซถึง 3-4 ครั้งกว่าเลือดจะหยุดสนิท ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
  • ห้ามรบกวนบริเวณแผล – ห้ามใช้ลิ้นหรือสิ่งอื่น ดุนหรือแตะแผล และห้ามดูดน้ำลายหรือเลือดจากผ้าก๊อซ เนื่องจากลิ่มเลือดที่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนแข็งตัวของเลือดอาจจะหลุดออก และทำให้เลือดบริเวณแผลไม่หยุดไหล
  • อย่าบ้วนน้ำ น้ำลาย หรือเลือด ระหว่างกัดก๊อซ ให้กลืนลงคอได้เลย
  • ส่วนใหญ่ เลือดควรจะหยุดภายในเวลา 60-90 นาที แต่คนไข้บางรายอาจมีเลือดออกซึมได้เล็กน้อยถึง 4-6 ชม. หากหลังจากนั้นคุณยังมีเลือดออกมาก หรือคุณมีอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น หน้ามืด จะเป็นลม ใจหวิว ใจสั่น กรุณาติดต่อเรา

ความปวด

หลังผ่าฟันคุด คุณสามารถรับประทานยาแก้ปวด Paracetamol ทุก 4-6 ชม. ได้ หากคุณยังปวดมากคุณสามารถทานยาแก้ปวด Ibuprofen เพิ่ม *กรุณาตรวจสอบ วิธีการรับประทานยาให้ตรงตามข้อมูลซึ่งปรากฎอยู่บนซองยา กรณีที่คุณมีประวัติแพ้ยา คุณหมออาจจ่ายยาประเภท/กลุ่มอื่นให้คุณรับประทาน กรุณาปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

บวม ช้ำ

  • แก้มของคุณอาจบวม (บวมมากที่สุด 2-3 วันหลังผ่าฟันคุด) ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
  • คุณสามารถใช้ถุงซิปล๊อคใส่น้ำแข็ง หรือ Cold Pack ห่อผ้า และประคบข้างแก้ม 20 นาที พัก 5 นาที และทำซ้ำใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อลดบวม และช่วยให้เลือดหยุดเร็วขึ้นใน 24 ชม. แรก
  • หลังจาก 24 ชม. ถ้าคุณมีรอยช้ำ หรือยังปวดตึงอยู่ คุณสามารถเปลี่ยนเป็นประคบด้วยน้ำอุ่น โดยทำเหมือนกันกับการประคบเย็น (ห้ามใช้น้ำเดือด หรือ ประคบถุงอุ่นโดยตรงกับผิวหนัง ให้ห่อด้วยผ้าทุกครั้ง)

อาหาร

  • คุณควรดื่มน้ำปริมาณมากขึ้น อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงที่คุณยังรับประทานอาหารได้ไม่เหมือนเดิม แต่หลีกเลี่ยงการใช้หลอดเพราะทำให้เลือดไหลได้
  • รับประทานอาหารเหลว หรืออาหารอ่อนใน 2-3 วันแรก
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่เย็นจัด ร้อนจัด ใน 2-3 วันแรก

การรักษาความสะอาด

  • หากเลือดหยุดดี คุณสามารถแปรงฟันซี่อื่นๆ ได้ แต่หลีกเลี่ยงการรบกวนบริเวณแผลผ่าฟันคุด กรุณาบ้วนน้ำเบาๆ งดใช้น้ำยาบ้วนปากในช่วงอาทิตย์นี้
  • วันที่ 2 คุณสามารถกลั้วปากเบาๆ ด้วยน้ำเกลืออุ่น วันละ 4-6 ครั้ง (ผสม หรือนำน้ำ 1 แก้ว ใส่ไมโครเวฟให้พออุ่น ใส่เกลือ 1/4 ช้อนชา คนให้เข้ากัน) ทำเช่นนี้ไปประมาณ 4-5 วัน
  • หากคุณหมอจ่ายน้ำยาบ้วนปาก Chlorhexidine คุณสามารถใช้แทนน้ำเกลืออุ่น

ข้อแนะนำอื่นๆ

  • งดออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วันหลังผ่าฟันคุด  เนื่องจากคุณทานอาหารได้น้อย และได้รับแคลอรี่น้อยกว่าปกติ ทำให้คุณเหนื่อยง่ายกว่าปกติ และอาจมีอาการ เพลีย หน้ามืด หรือวิงเวียน
  • ห้ามสูบบุหรี่ อย่างน้อย 1 อาทิตย์ เนื่องจากบุหรี่นั้นรบกวนกระบวนการหายของแผล
  • คุณอาจรู้สึกมีไข้ต่ำๆ ได้ใน 24-48 ชม. แรก ซึ่งเป็นการตอบสนองปกติของร่างกาย หากหลัง 48 ชม. คุณยังมีไข้ หรือคุณมีไข้สูง หนาวสั่น กรุณาติดต่อเรา
  • คุณอาจรู้สึกเจ็บคอ ตึงบริเวณขากรรไกร อ้าปากได้ไม่สุด ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อย หลังผ่าตัดฟันคุด และอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง
  • ริมฝีปากคุณอาจแห้งในช่วงนี้ การใช้ Lips Balm / Moisture จะช่วยคุณได้
  • หากคุณหมอจ่ายยาปฎิชีวนะให้เพิ่มเติม กรุณารับประทานจนหมดตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด

ผ่าฟัดคุด ถอนฟันคุดที่ไหนดี

การผ่าฟันคุดถือเป็นการผ่าตัดทางทันตกรรมที่ต้องอาศัยประสบการณ์ของคุณหมอ ถึงแม้ว่าคุณหมอฟันทั่วไปจะสามารถผ่าฟันคุดได้ แต่หากฟันคุดของคุณมีความซับซ้อน หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงได้สูง การได้ผ่ากับคุณหมอเฉพาะทางก็จะทำให้คุณอุ่นใจได้ว่า คุณจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ

ข้อดีของการผ่าฟันคุดกับ Smile Seasons

  • มีคุณหมอเฉพาะทาง – Smile Seasons มีคุณหมอเฉพาะทางทุกสาขา รวมทั้งศัลยแพทย์ประจำคลินิก ไม่ว่าฟันคุดของคุณจะง่ายหรือซับซ้อน คุณสามารถวางใจได้ว่าคุณจะได้รับการรักษาที่ดีจากทีมคุณหมอของเรา
  • ให้ข้อมูลที่ดีและเพียงพอ – เราเน้นการให้ความรู้ที่ดีกับคนไข้ทุกคนของเรา เมื่อคุณทราบวิธีการการเตรียมตัว และข้อปฎิบัติทั้งก่อนและหลังผ่าฟันคุด คุณก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น และฟื้นตัวด้วยความรวดเร็ว
  • เครื่องมือทันสมัย และสะอาด – การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดทางทันตกรรมอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัด ความสะอาดถือเป็นเรื่องสำคัญมาก มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ของเราได้ผ่านการฆ่าเชื้อตามมาตรฐานทางการแพทย์
  • ติดต่อง่าย – แน่นอนว่าหลังผ่าฟันคุดไป คุณอาจมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง คุณสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับคำแนะนำได้ตลอดเวลา

ทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าและถอนฟันคุด

ทีมทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จในการผ่าฟันคุด เราขอแนะนำทีมคุณหมอศัลยกรรมของเรา

 

ดูรายชื่อทันตแพทย์ผู้เชี่ยชาญด้านผ่าและถอนฟันคุดทั้งหมดได้ที่ รายชื่อทันตแพทย์

หมอโอ๋

อ.ทพญ.กนกพร สันตะวาลิ้ม

หมอโอ๋

  • ปริญญาโทสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ม.สงขลานครินทร์
  • ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ม.มหิดล
  • อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล (เกียรตินิยมอันดับ 2)
หงส์

ทพญ.อ้อมกร บุณยประทีปรัตน์

หมอหงส์

  • วุฒิบัตรทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ทันตแพทยสภา
  • ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
ทีค

ทพญ.พิมพ์จุฑา ใจทา

หมอทีค

  • ประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ม.มหิดล
  • ทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ (เกียรตินิยมอันดับ 2)

คำถามที่พบบ่อย (FAQ) ของการผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุดนานไหมกว่าจะหายบวมกี่วัน เลือดซึมกี่วัน

ปกติแล้วเลือดควรจะหยุดภายใน  3-4 ชม. หลังจากนั้นคุณอาจรู้สึกบวมหรือปวดไปอีก 2-3 วัน และเมื่อตัดไหมที่ 7-10 วัน ก็ถือว่าคุณหายจากการผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้ว

ผ่าฟันคุด เหงือกเป็นรู เศษอาหารติด ทำอย่างไร

หลังผ่าฟันคุด เหงือกของคุณอาจเป็นรู หรือเป็นหลุมลงไป หากมีเศษอาหารติด ห้ามเอาอะไรไปแหย่อย่างเด็ดขาด ให้คุณบ้วนน้ำ หรือฉีดล้างเบาๆ ด้วยน้ำเกลือ

ปวดฟันคุดกี่วันหาย ผ่าฟันคุดปวดเป็นเดือน ผิดปกติไหม

โดยปกติแล้วอาการปวดควรจะหายไปในช่วง 5-7 วัน อาการปวดหลังผ่าฟันคุดไปเป็นเดือนถือเป็นเรื่องผิดปกติ คุณควรติดต่อคลินิกเพื่อทำนัดเข้าไปตรวจเช็คกับคุณหมอ

หลังผ่าฟันคุดต้องกินอะไรถึงจะหายเร็ว

หลังผ่าฟันคุดคุณสามารถรับประทานอาหารได้ปกติ ถึงแม้จะไม่มีอาหารประเภทใดที่ทำให้แผลหายได้เร็ว แต่ในช่วง 2-3 วันแรกเราแนะนำให้คุณเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ จะได้ไม่ไปรบกวนแผลผ่าตัด หลังจากนั้นเพียงเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามปกติก็เพียงพอ

ก่อนจัดฟันต้องผ่าฟันคุดไหม

ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้ผ่าฟันคุด กรณีที่คุณจัดฟัน หรือตัดสินใจว่ากำลังจะจัดฟัน –  อุปกรณ์จัดฟันถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำความสะอาดช่องปาก รวมทั้งฟันคุดอาจไปดันฟันซี่ข้างเคียงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนตำแหน่งของฟันซี่อื่นได้ตามแผนการจัดฟัน อ่านบทความ จัดฟัน เพิ่มเติมได้ที่นี่

ควรผ่าฟันคุดตอนอายุเท่าไหร่?

ช่วงอายุ 18-25 ปี เพราะสามารถทำได้ง่าย แผลหายไว ผลแทรกซ้อนน้อย ดังนั้นหากตรวจพบสามารถผ่าออกได้ทันที แม้จะยังโผล่ไม่พ้นเหงือก ก่อนจะเกิดผลเสียตามมาภายหลัง

มีกลิ่นปากหลังผ่าฟันคุดเป็นเรื่องปกติไหม?

กลิ่นปากอาจเกิดจากการไม่กล้าทำความสะอาด เนื่องจากเป็นแผลอยู่ ทำให้เศษอาหารตกค้าง ดังนั้นควรรักษาช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันซี่อื่นๆ ได้ตามปกติ และบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น 

ทั้งนี้หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แผลปวด บวม แดง มีเลือด หรือหนองไหล ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ เพราะอาจเกิดการอักเสบติดเชื้อของแผลผ่าตัดได้

สรุปเรื่องผ่าฟันคุด

  • ฟันคุดเป็นฟันกรามซี่ที่ 3 ที่ไม่โผล่พ้นเหงือก หรือโผล่มาไม่เต็มซี่ มีหลายประเภทตามการทิศทางการเรียงตัว
  • สามารถก่อให้เกิดเหงือกอักเสบ ติดเชื้อ ฟันผุ หรือถุงน้ำในกระดูกได้
  • ฟันคุดส่วนใหญ่ควรได้รับการถอน หรือผ่าฟันคุด  ราคาในการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความซับซ้อนของฟันคุด ผลข้างเคียงที่พบได้คือ เลือดออก บวมอักเสบ ปวด และ dry socket
  • คุณควรเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังผ่าฟันคุดตามคำแนะนำจากคุณหมอ
  • หากคุณกำลังอยากผ่าฟันคุด หรือมีคำถาม คุณสามารถติดต่อเพื่อรับคำแนะนำจากเราได้ทันที
อ้างอิง

บทความโดย

Picture of ทพญ.กรรวี เขียวเจริญ

ทพญ.กรรวี เขียวเจริญ

วุฒิบัตรทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ทันตแพทยสภา
ทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล

ติดต่อเจ้าหน้าที่

อย่าลังเลที่จะติดต่อเรา เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้บริการตอบคำถาม ข้อสงสัย ประเมินค่าใช้จ่าย ทำนัดปรึกษากับคุณหมอ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงกรอก ชื่อนามสกุล เบอร์โทร และ Email เจ้าหน้าที่ของเราจะรีบติดต่อกลับไปให้ข้อมูลคุณโดยเร็วที่สุด

โปรโมชั่นอื่นๆ

ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับจัดฟัน

จัดฟันคืออะไร มีกี่แบบ รวมข้อมูลการดัดฟันที่ต้องรู้

ดูแลโดยทีมคุณหมอที่มีประสบการณ์เปลี่ยนแปลงรอยยิ้มให้กับคนไข้หลายพันคน – โปรโมชั่นมีทั้งจัดฟันครั้งแรก กับรอบสอง ก้าวแรกแห่งรอยยิ้มที่สวยงามเริ่มต้นที่นี่คลิกเลย

รีเทนเนอร์ ราคา

รีเทนเนอร์ ราคาเท่าไหร่ คืออะไร จำเป็นต้องใส่ไหม

รีเทนเนอร์ ราคาเท่าไหร่ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร มีกี่ประเภท จำเป็นต้องใส่ไหม ต้องใส่เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ถ้าไม่ใส่จะเป็นยังไง

รีเทนเนอร์ FM

รีเทนเนอร์ (retainer) คืออะไร รวมความรู้เกี่ยวกับรีเทนเนอร์ที่ทุกคนต้องรู้ จากทันตแพทย์

รีเทนเนอร์ ราคาพิเศษ 2,999 สีเยอะ ลายเพียบ หรือจะออกแบบเองก็ได้ ใส่ Glitter เลือกสียางด้านหน้าได้ มีทั้งแบบเหล็ก และแบบใส – ดูแลโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อ่านรายละเอียดที่นี่

เปิดทุกวันเวลา 10:00 – 20:00 น.

โทรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: 02-144-3274

ผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุด ไม่เจ็บอย่างที่คุณคิด

เจ้าหน้าที่ของเราพร้อมให้บริการตอบคำถาม ข้อสงสัย ประเมินค่าใช้จ่าย ทำนัดปรึกษากับคุณหมอ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เจ้าหน้าที่ของเราจะรีบติดต่อกลับไปให้ข้อมูลคุณโดยเร็วที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราขอความยินยอมของคุณในการใช้คุกกี้ ดูรายละเอียด นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ คุกกี้